ระบบต้นทุนฐานกิจกรรม ABC

ระบบต้นทุนฐานกิจกรรม ABC

ระบบต้นทุนฐานกิจกรรมมักถูกเรียกระบบต้นทุนนี้ว่าระบบ ABC ซึ่งเป็นการคิดต้นทุนเพื่อการบริหารไม่ใช่เป็นระบบบัญชีตามมาตรฐานของบัญชีแต่เป็นระบบที่ Kaplan และCooper ได้นำคำว่าระบบการคิดต้นทุนกิจกรรมมาเขียนเป็นบทความตีพิมพ์เมื่อปี 1988 ใน The journal of cost management and Harvard Business Review ซึ่งภายหลังได้มีบทความที่ให้การสนับสนุนเรื่องการคิดต้นทุน ABC ตีพิมพ์ในหนังสือนิตยสารชั้นนำด้านบัญชีบริหารในประเทศสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ต่อมาในช่วงปี 1991 ก็มีบริษัทหลายแห่งทั่วโลกนำระบบการคิดต้นทุน ABC มาใช้จำนวนมาก สำหรับประเทศไทยมีบริษัทชั้นนำหลายแห่งนำมาใช้รวมทั้งรัฐวิสาหกิจเช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตและการไฟฟ้านครหลวงได้นำมาใช้เช่นกัน

   การคิดต้นทุนฐานกิจกรรมคือ การคิดต้นทุนแบ่งแยกตามกิจกรรม กิจกรรมใดเป็นผู้ใช้ทรัพยากรในองค์กรกิจกรรมนั้นจะต้องเป็นผู้รับภาระต้นทุนไป การคิดต้นทุน ABC นี้เป็นการจัดสรรหรือปันส่วนต้นทุนการใช้ทรัพยากรขององค์กรผ่านกิจกรรมแต่ละกิจกรรมในองค์กร ต้นทุนของผลิตภัณฑ์จะสูงหรือจะต่ำก็ขึ้นอยู่กับผลิตภัณฑ์นั้นมีกิจกรรมต่างๆมากน้อยเพียงใด ระบบ ABC ทำให้ข้อมูลต้นทุนของผลิตภัณฑ์มีความถูกต้องมากกว่าการคิดต้นทุนแบบเดิมที่อิงกับปริมาณการผลิตเท่านั้น บริษัทขนาดใหญ่ที่มีระบบบัญชีที่ดีสามารถคิดต้นทุนแบบ ABC นี้ได้อย่างแม่นยำเพราะมีข้อมูลพร้อมว่าผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดมีกิจกรรมใดบ้างที่มาเกี่ยวข้อง สำหรับธุรกิจ SME การคิดต้นทุนแบบ ABC อาจคำนวณหาค่าแท้จริงได้ยากแต่ผู้ประกอบการควรศึกษาเรื่องการแบ่งส่วนในต้นทุนคงที่ที่ไม่ได้จัดสรรให้กับสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ใดๆของกิจการเช่น เงินเดือนพนักงานประจำสำนักงานทั้งฝ่ายบัญชี ฝ่ายบุคคล ฝ่ายขายเหล่านี้ควรมีการแบ่งปันหรือจัดสรรให้กับผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดเพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงของผลิตภัณฑ์และเพื่อตัดสินใจในการคงไว้หรือเลิกผลิตของผลิตภัณฑ์นั้นๆ

ข้อจำกัดการคิดต้นทุนฐานกิจกรรม (ABC) มีดังนี้

   1. หากกิจการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์หรือสินค้ามีเพียงตัวเดียวเพราะไม่ต้องปันส่วนออกไป

   2. มีค่าใช้จ่ายสูงในการแยกรายละเอียดของกิจกรรมที่เกิดขึ้นในกิจการ

   3. ระบบต้นทุนนี้เป็นสิ่งใหม่อาจเกิดการต่อต้านจากบุคคลภายในองค์กรและเกิดการขัดแย้งกันระหว่างฝ่ายงานได้เพราะต่างคนต่างไม่ยอมรับภาระต้นทุนที่ถูกปันส่วนมา

   อย่างไรก็ตามการคิดต้นทุนแบบ ABC จะช่วยให้กิจการคำนวณต้นทุนที่ใกล้เคียงความจริงที่สุดและทำให้ผู้บริหารสามารถบริหารต้นทุนได้ง่ายและตัดสินใจได้ว่ากิจกรรมใดที่ไม่ก่อให้เกิดคุณค่าและประโยชน์ก็อาจเลิกกิจกรรมหรือปรับเปลี่ยนกิจกรรมนั้นไป การคิดต้นทุน ABC จึงเหมาะสมกับกิจการที่มีผลิตภัณฑ์หลายชนิด มีผลิตภัณฑ์หลายรูปแบบหรือมีหลายๆรุ่น

การเปรียบเทียบต้นทุนแบบเดิมกับต้นทุนฐานกิจกรรม (ABC)

 

ขั้นตอนการปันส่วนต้นทุนแบบ ABC มีดังนี้

   1. ปันส่วนต้นทุนตามรหัสบัญชี คือต้นทุนใดเกิดขึ้นจากกิจกรรมเพียงกิจกรรมเดียวก็ใส่ต้นทุนในกิจกรรมตามรหัสบัญชีได้เลย แต่หากต้นทุนนั้นมาจากหลายกิจกรรมด้วยกันผู้จัดทำต้นทุนก็ต้องปันส่วนต้นทุนของกิจกรรมเหล่านั้นเข้ามาคำนวณโดยใช้เกณฑ์ใดเกณฑ์หนึ่งที่เหมาะสม

   2. ปันส่วนต้นทุนของกิจกรรมต่างๆให้กับผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องโดยใช้ต้นทุนต่อหน่วยเป็นเกณฑ์การคำนวณ เช่นกิจกรรมการเตรียมวัตถุดิบในการผลิตก็ปันส่วนให้กับผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายของผลิตภัณฑ์นั้นๆ

   การคำนวณต้นทุนฐานกิจกรรมหรือต้นทุน ABC นี้เหมาะกับธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีผลิตภัณฑ์หลายๆตัวหรือมีสาขาหลายๆแห่งทำให้การปันส่วนต้นทุนให้ผลิตภัณฑ์สามารถคำนวณต้นทุนที่ใกล้เคียงกับความจริงที่สุดซึ่งการคำนวณต้นทุนนี้จัดทำขึ้นเพื่อทำเป็นรายงานบัญชีสำหรับผู้บริหารเพื่อใช้ในการตัดสินใจและวางแผนการดำเนินงานให้ดียิ่งขึ้น ธุรกิจขนาดกลางที่มีสินค้าหลายชนิดก็อาจเริ่มจัดทำระบบ ABC ได้ด้วยการนำต้นทุนประเภทค่าโสหุ้ย หรือค่าใช้จ่ายในการบริหารและการขายมาจัดสรรปันส่วนให้กับผลิตภัณฑ์แต่ละประเภทเพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงของผลิตภัณฑ์เหล่านั้น

บทความโดย : https://bsc.dip.go.th

 45203
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์