ีเครื่องมือทางการเงิน

ีเครื่องมือทางการเงิน

เมื่อคราวที่แล้วเขียนเรื่องที่เคยเขียนแล้ว แต่นำมาอธิบายอีกครั้งหนึ่ง คือเรื่องความแตกต่างระหว่างการลงทุนในหุ้นกู้ด้วยตัวเอง กับการลงทุนในหุ้นกู้ทางอ้อมด้วยการลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ โดยผมชี้ให้เห็นว่ามีความเสี่ยงที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะความเสี่ยงประเภทที่เรียกว่า market risk

หลังจากเขียนเรื่องดังกล่าวไปแล้ว ทำให้นึกถึงพื้นฐานทางการเงินและการลงทุนอีกเรื่องหนึ่ง ก็คือเรื่องเครื่องมือทางการเงิน (financial instrument) หรืออาจจะเรียกว่าตราสารทางการเงิน ซึ่งผมเคยพยายามแบ่งประเภทของเครื่องมือทางการเงินออกเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่ เครื่องมือเพื่อการระดมทุน และเครื่องมือเพื่อการบริหารความเสี่ยง ซึ่งการแบ่งประเภทดังกล่าวนั้น เป็นการแบ่งตามมุมมองของผู้ออกตราสารทางการเงิน โดยเน้นไปที่องค์กรธุรกิจ เพราะการดำเนินธุรกิจนั้น จำเป็นต้องจัดหาเงินทุนเพื่อใช้ในการดำเนินการ นอกจากนั้น ในความผันผวนทางการเงินซึ่งเน้นไปที่ราคาของเงินอันได้แก่ ดอกเบี้ย และอัตราแลกเปลี่ยน องค์กรธุรกิจก็มีความจำเป็นที่จะต้องมีเครื่องมือทางการเงินเพื่อบริหารความเสี่ยงดังกล่าวนั้น โปรดสังเกตว่าผมใช้คำ “บริหารความเสี่ยง” แทนคำว่า “ป้องกันความเสี่ยง” เพราะผมพยายามแสดงให้เห็นเสมอว่า ความเสี่ยงทางการเงินนั้น ไม่จำเป็นจะต้องลดให้หมดเสมอไป หรือบางทีอาจจะบอกด้วยซ้ำไปว่า ไม่จำเป็นต้องลดความเสี่ยงเสมอไป ในบางกรณี อาจจะต้องการเพิ่มความเสี่ยงด้วยซ้ำ หากเชื่อว่าความเสี่ยงด้านขาขึ้น (upside risk) มีโอกาสหรือขนาดมากกว่าความเสี่ยงด้านขาลง (downside risk)

อย่างไรก็ดี การแบ่งประเภทเครื่องมือทางการเงินดังที่แสดงมานั้น ได้กล่าวแล้วว่า เป็นการแบ่งตามวัตถุประสงค์ขององค์กรธุรกิจผู้ออกเครื่องมือทางการเงินเหล่านั้น ซึ่งก็หนีไม่พ้น เครื่องมือเพื่อการระดมทุนประเภทเจ้าของ (equity instrument) เช่น หุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ หรือเครื่องมือเพื่อการระดมทุนประเภทหนี้ (debt instrument) เช่น หุ้นกู้ หรือเครื่องมือบริหารความเสี่ยงประเภทอนุพันธ์ (financial derivatives) ได้แก่ forward, options, swap

เมื่อมีผู้ออกเครื่องมือเหล่านั้น ก็จำเป็นจะต้องมีผู้ซื้อเครื่องมือเหล่านั้น ซึ่งก็คือ นักลงทุนและนักเก็งกำไรนั่นเอง ในอดีตนั้น เครื่องมือทางการเงินที่นักลงทุนและนักเก็งกำไรสามารถใช้เพื่อการลงทุนและเก็งกำไรนั้น ก็ไม่ค่อยมีความซับซ้อน การวิเคราะห์การลงทุนในหุ้นสามัญ ก็อยู่บนพื้นฐานของการวิเคราะห์ทางเทคนิค (technical analysis) ซึ่งก็คือการวิเคราะห์บนพื้นฐานข้อมูลเกี่ยวกับการซื้อขายที่เรียกว่า trading information ที่เป็นไปตามหลักอุปสงค์อุปทาน รวมทั้งรูปแบบการซื้อขายที่เชื่อว่านักลงทุนและนักเก็งกำไรจะดำเนินกลยุทธภาพรวมไม่แตกต่างไปจากเดิมในอดีตที่ได้ดำเนินมาก่อนหน้านั้น นอกจากนั้น ก็อาจจะมีการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน (fundamental analysis) เพื่อค้นหาหุ้นของบริษัทที่มีราคาตลาดต่ำกว่ามูลค่าที่ควรจะเป็น

ส่วนการลงทุนในตราสารหนี้หรือหุ้นกู้นั้น นักลงทุนก็จะใช้ข้อมูลอันดับเครดิต เพื่อพิจารณาความเสี่ยงในการได้รับชำระเงินคืนตามที่ผู้ออกสัญญาไว้ ประกอบกับการวิเคราะห์ทิศทางอัตราดอกเบี้ยในตลาดซึ่งมีผลต่อราคาหุ้นกู้ที่ตนเองถือครองอยู่

แนวคิดที่ผมแสดงมาให้เห็นนั้น เป็นแนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับการลงทุนในเครื่องมือทางการเงินที่เป็นพื้นฐานทั่วไป แต่โลกทางการเงินเดี๋ยวนี้มีพัฒนาการรุดหน้ามาอีกไกลมาก ทำให้เครื่องมือทางการเงินมีความซับซ้อนมากขึ้น และเป็นเครื่องมือที่ไม่ได้ออกโดยองค์กรผู้ออกที่ต้องการเงินทุน หรือต้องการบริหารความเสี่ยงอีกต่อไป แต่กลับกลายเป็นผู้อื่นที่ออกเครื่องมือทางการเงินที่มีความซับซ้อนและใช้เครื่องมือทางการเงินพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นหุ้นสามัญ หุ้นกู้ เป็นสินทรัพย์อ้างอิง (underlying asset) สำหรับเครื่องมือทางการเงินที่ออก และเชิญชวนนักลงทุนให้ซื้อหรือลงทุนในเครื่องมือเหล่านั้น โดยที่ผู้ออกเครื่องมือซับซ้อนเหล่านี้ นำกระแสเงินสด (cash flow) ที่เกิดจากการถือครองเครื่องมือทางการเงินพื้นฐาน (หุ้นสามัญ หุ้นกู้) มาจัดโครงสร้างตามใจต้องการ แล้วออกเครื่องมือทางการเงินที่มีความซับซ้อนโดยสัญญาว่าผู้ถือเครื่องมือนี้ จะได้รับกระแสเงินสดตามที่ได้มีการจัดโครงสร้างไว้

กระบวนการจัดโครงสร้างทางการเงินนั้น อาจจะเรียกกว้าง ๆ ว่า structured finance โดยกระบวนการเฉพาะทางที่รู้จักกันโดยทั่วไปเช่น การทำ securitization หรือการทำให้เป็นหลักทรัพย์ หรืออาจจะเป็นการออกกองทุนลักษณะต่าง ๆ เช่น การออกกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure fund) การออกกองทุนอสังหาริมทรัพย์ (properties fund) เป็นต้น ทั้งนี้ เครื่องมือที่เกิดจากกระบวนการที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ อาจจะเรียกว่า asset backed securities (ABS), mortgage backed securities (MBS) หรือหน่วยลงทุน

นอกจากนั้น เครื่องมือที่มีความซับซ้อนที่อาจจะเป็นที่สนใจของนักลงทุน เช่น exchange traded fund (ETF) ก็เป็นเครื่องมือที่อยู่บนพื้นฐานของกลุ่มสินทรัพย์ (portfolio) โดยที่ไส้ในของกลุ่มสินทรัพย์ที่อ้างอิงให้ ETF ก็อาจจะเป็นกลุ่มสินทรัพย์หุ้นสามัญ และในขณะนี้ ETF ที่นักลงทุนสามารถเลือกลงทุนได้ก็มีความหลากหลาย

ผมสาธยายเครื่องมือมาหลากหลายประเภทเพื่ออยากจะเตือนใจนักลงทุนในยุคนี้ว่า ต้องมีความเข้าใจความเสี่ยงของเครื่องมือเหล่านี้ ซึ่งต้องเข้าใจความเสี่ยงของสินทรัพย์ที่อ้างอิงพื้นฐานของเครื่องมือซับซ้อนเหล่านี้เสียก่อน แล้วก็ต้องทำความเข้าใจลักษณะเฉพาะของเครื่องมือซับซ้อนแต่ละชนิด อันจะนำไปสู่ความเข้าใจถึงความเสี่ยงที่แปลกแตกต่างกันไปตามลักษณะเฉพาะ

โลกทางการเงินนั้น ยิ่งมีพัฒนาการไปมากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้เกิดความเสี่ยงต่อนักลงทุนอย่างคาดไม่ถึง การเล่นแร่แปรธาตุทางการเงินนั้น มีทั้งคุณประโยชน์และโทษ ผมเกิดความกังวลใจเสมอเมื่อเห็นใครก็ตามพยายามชักชวนและชักจูงให้นักลงทุนเลือกลงทุนในเครื่องมือซับซ้อนเหล่านี้ เพราะต้องถามใจนักลงทุนว่า พร้อมที่จะทำความเข้าใจความเสี่ยงของเครื่องมือเหล่านั้นแล้วหรือยัง

บทความโดย  https://santikiran.wordpress.com

 5937
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์