นานาสาระน่ารู้เกี่ยวกับเช็ค คุณรู้จัก เช็ค ดีพอหรือไม่?

นานาสาระน่ารู้เกี่ยวกับเช็ค คุณรู้จัก เช็ค ดีพอหรือไม่?

       เช็คเป็นเครื่องมือทางการเงินที่ให้คุณประโยชน์ต่อการทำธุรกิจมาก แต่สิ่งนี้จะมีโทษมากกว่าหากผู้ประกอบการขาดความรู้เกี่ยวกับการใช้งาน
 
ต้องยอมรับกันตามตรงว่าการประกอบธุรกิจในยุคปัจจุบันมีผู้ประกอบการเป็นจำนวนมากที่นิยมใช้วิธีการเขียนเช็คสั่งจ่ายแทนที่วิธีการจ่ายเงินสดแบบเดิมๆ อย่างที่เคยเป็นมาในอดีต เหตุผลหลัก คงต้องยกให้กับข้อดีนานับประการไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของความสะดวกสบายที่ผู้ประกอบการไม่จำเป็นที่จะต้องขนเงินสดไปคราวละมากๆเพื่อชำระหนี้ที่ก่อขึ้น ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดปัญหาในเรื่องของความไม่ปลอดภัยตามมาในท้ายที่สุด
 
จึงทำให้เช็คเงินกลายเป็นนวัตกรรมทางการเงินที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในหมู่ผู้ประกอบการธุรกิจทุกระดับชั้น แต่ทว่าการใช้เช็คนั้นก็ไม่ได้ง่ายดายเหมือนอย่างที่ทุกคนเข้าใจกัน เนื่องจากมีข้อจำกัดอยู่หลากหลายประการรวมไปถึงเทคนิควิธีการใช้ที่แตกต่างจากเงินสดแบบสุดขั้วอีกด้วย ซึ่งผู้ประกอบการทุกท่านจำเป็นที่จะต้องมีความรู้ความเข้าใจในส่วนตรงนี้ โดยมีเนื้อหาที่น่าสนใจดังนี้
 
 
 
กฎหมายของไทยได้กำหนดให้เช็คที่ใช้ในการพาณิชย์มี 2 รูปแบบใหญ่ๆ คือ
 
     เช็คระบุชื่อ เป็นเช็คที่ผู้สั่งจ่ายเขียนขึ้นเพื่อสั่งธนาคารให้จ่ายเงินโดยระบุชื่อผู้รับเงิน หรือให้ใช้ตามคำสั่งของบุคคลนั้น หมายความว่า เช็คฉบับดังกล่าวจะสามารถนำไปขึ้นเงินที่ธนาคารได้โดยจะจ่ายเงินให้กับผู้ที่มีชื่อรับเงินอยู่ในเช็คแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น
 
     เช็คผู้ถือ คือเช็คที่ผู้สั่งจ่ายเขียนออกให้โดยสั่งธนาคารให้จ่ายเงินแก่ผู้ถือหรือจ่ายตามคำสั่งของผู้ถือ และครอบคลุมถึงเช็คที่ระบุชื่อผู้รับเงินแต่ก็มีคำว่า “ผู้ถือ” รวมอยู่ด้วย พูดง่ายๆ ก็คือเช็คฉบับดังกล่าวจะไม่มีการลงชื่อสั่งจ่ายเอาไว้ใครก็ตามที่ถือเช็คดังกล่าวอยู่สามารถเอาไปขึ้นเงินที่ธนาคารได้ทันที
 
     นอกจากนี้สำหรับในประเทศไทยของเรายังมีการแบ่งเช็คลงไปในรายละเอียดปลีกย่อยที่ลึกขึ้นอีก โดยมีการแบ่งเช็คออกเป็นทั้งหมด 7 ประเภท ตามรูปแบบการใช้งานทางธุรกรรมการเงิน ได้แก่
1. เช็คเงินสด หรือผู้ถือ (Cash or Bearer’s cheque) เป็นเช็คที่ผู้ถือสามารถนำไปขึ้นเงินกับทางธนาคารได้โดยทันที แต่ถ้ายังไม่ประสงค์จะขึ้นเงินก็สามารถนำไปฝากเข้าบัญชีของตนเองได้ ถ้าจะมีการโอนเช็คไปให้แก่ผู้อื่นก็ไม่ต้องมีการเขียนสลักหลังแต่ประการใด
 
2. เช็คระบุชื่อผู้รับเงิน (Order’s cheque) คือเช็คที่ผู้สั่งจ่ายระบุชื่อผู้รับเงินลงไปในเช็ค ซึ่งผู้รับเงินจะต้องนำเช็คไปเบิกเงินด้วยตนเอง หรือถ้าจะโอนให้ผู้อื่นจะต้องทำการสลักหลังโดยเซ็นชื่อด้านหลังเช็คด้วย
 
3. เช็คของธนาคาร (Cashier’s Cheque or Treasurer’s Cheque) ธนาคารจะออกเช็คชนิดนี้ให้แก่ลูกค้าที่นำเงินสดมาซื้อเช็คกับทางธนาคาร โดยในตัวเช็คจะมีลายเซ็นของพนักงานผู้มีอำนาจในธนาคารเซ็นรับรองกำกับไว้ จึงเป็นเช็คที่ใช้ภายในพื้นที่ท้องถิ่นของธนาคารนั้นๆ จะไปใช้ต่างพื้นที่หรือซื้อดร๊าฟไม่ได้
 
4. เช็คที่ธนาคารรับ (Certified Cheque) ธนาคารจะรับรองเช็คชนิดนี้ก็ต่อเมื่อผู้สั่งจ่ายมีเงินอยู่ในบัญชีเพียงพอ ซึ่งทางธนาคารจะประทับตราว่า “ใช้ได้” พร้อมกับวันที่และลายเซ็นของพนักงานที่มีอำนาจรับผิดชอบจากทางธนาคารด้วย

5. เคาน์เตอร์เช็ค (Counter Cheque) เป็นเช็คของธนาคารใช้ในกรณีที่เจ้าของบัญชีต้องการใช้เงินโดยกระทันหันแต่ลืมเอาสมุดบัญชีไป ธนาคารก็จะออกเช็คชนิดพิเศษแบบนี้ให้เขียนสั่งจ่ายเงิน โดยเช็คประเภทนี้จะใช้ได้เฉพาะภายในธนาคารเท่านั้นจะโอนสลักหลังให้แก่ผู้อื่นไม่ได้
 
6. เช็คสำหรับผู้เดินทาง (Traveler’s Cheque) เหมาะสำหรับนักเดินทางที่ไม่ต้องการที่จะพกเงินสดติดตัวไปด้วยเป็นจำนวนมากๆ ซึ่งอาจจะมีปัญหาในเรื่องของความไม่ปลอดภัยเกิดขึ้นได้ โดยทางธนาคารจะเปิดโอกาสให้ผู้สนใจได้แลกซื้อเช็คชนิดได้ตามสาขาต่่างๆ
 
7. ดร๊าฟธนาคาร (Banks Draft) เป็นเช็คในอีกลักษณะหนึ่งที่ทางธนาคารจะมีคำสั่งไปยังธนาคารอีกแห่งหนึ่งหรืออีกสาขาหนึ่ง ให้จ่ายเงินในจำนวนที่กำหนดไว้แก่บุคคลที่ถูกระบุชื่อไว้บนดร๊าฟ โดยดร๊าฟของธนาคารจะมีไว้เพื่อส่งเงินไปต่างพื้นที่ทั้งภายในและภายนอกประเทศ จึงแตกต่างจาก Cashier’s Cheque อย่างสิ้นเชิง
 
     หลังจากทราบประเภทของเช็คไปแล้วก็มาถึงส่วน รายละเอียดภายในเช็ค กันบ้าง ซึ่งภายในเช็คจะมีหัวข้อที่สำคัญๆ ดังนี้
1. มีคำบอกชื่อว่าเป็นเช็ค หมายถึง หลักฐานที่ืแสดงว่ากระดาษแผ่นนี้เป็นเช็คของธนาคารจริงๆ เช่น มีตัวหนังสือระบุว่าเป็นเช็คเลขที่ 956351 เป็นต้น
2.คำสั่งซึ่งให้ใช้เงินเป็นจำนวนแน่นอนโดยไม่มีเงื่อนไขในการใช้เงิน นั่นหมายถึง จำนวนเงินที่เขียนหรือพิมพ์เป็นทั้งตัวเลขและตัวหนังสือนั่นเอง
3.ชื่อหรือยี่ห้อของสำนักธนาคาร
4.ชื่อหรือบริษัทของผู้รับเงิน
5.ลายมือชื่อ (ลายเซ็น) ของผู้สั่งจ่ายสถานที่ใช้เงิน
6.วัน เดือน ปี และสถานที่ออกเช็ค
 
     ซึ่งความสมบูรณ์ของเช็คตามที่กฎหมายระบุไว้ก็คือจะต้องมีการเขียนหรือพิมพ์กรอกในรายละเอียด ตั้งแต่ข้อที่ 1 - 5 ครบถูกต้องสมบูรณ์ทุกข้อห้ามผิดพลาดโดยเด็ดขาด มิเช่นนั้นเช็คใบดังกล่าวจะเสียและถือว่าเป็นโมฆะทางกฎหมายโดยทันที ส่วนข้อที่ 6 นั้นสามารถเว้นว่างเอาไว้ได้โดยกฎหมายจะให้ถือว่าเป็นเช็คออก ณ ที่อยู่ (ภูมิลำเนา) ของผู้สั่งจ่าย สำหรับข้อที่ 7 วัน เดือน และปีนั้นถ้าเว้นว่างเอาไว้ไม่ได้กรอกรายละเอียดก็ไม่เป็นอะไรและยังถือว่าเช็คฉบับดังกล่าวยังมีผลทางกฎหมายอยู่ เพียงแต่จะยังไม่ได้รับเงินเท่านั้นเนื่องจากไม่ได้ระบุวันที่สำหรับการขึ้นเงินเอาไว้นั่นเอง
 
     นอกจากนี้เช็คในแต่ละแบบยังมีลักษณะการใช้งานที่แตกต่างกันออกไปอีกด้วย โดยจะขึ้นอยู่กับสิ่งที่ผู้สั่งจ่าย (ผู้เขียนเช็ค) ต้องการให้มีการดำเนินการเกี่ยวกับเช็คใบดังกล่าวเป็นการเฉพาะ ซึ่่งจะมีกรอบของข้อกฎหมายรองรับให้กระทำได้อย่างถูกต้อง โดยลักษณะและคำศัพท์ของเช็คที่สำคัญๆ ซึ่งผู้ประกอบการจำเป็นที่จะต้องศึกษาเรียนรู้มีดังนี้
1. เช็คขีดคร่อม เป็นเช็คที่มีการขีดเส้นคู่ขนานไว้ที่มุมบนทางด้านซ้ายของเช็ค ด้วยลักษณะที่มีการลากเส้นยาวขีดข้ามจากด้านหนึ่งไปสิ้นสุดที่อีกด้านหนึ่งของหัวมุมจึงทำให้ผู้คนทั่วไปเรียกติดปากกันว่า “เช็คขีดคร่อม” นั่นเอง โดยเช็คลักษณะนี้นั้นอาจจะเป็นเช็คที่ระบุชื่อหรือจะเป็นเช็คผู้ถือก็ได้ ซึ่งเช็คขีดคร่อมมีด้วยกัน 2 แบบ คือ 
    - เช็คขีดคร่อมทั่วไป เป็นเช็คที่มีเส้นคู่ขนานปรากฎที่หัวมุมด้านซ้ายแต่เพียงอย่างเดียว โดยเช็คประเภทนี้ผู้รับเงินไม่สามารถนำเช็คไปเบิกเป็นเงินสดออกมาได้โดยทันทีเนื่องจากมีการขีดคร่อมเอาไว้ ซึ่งจำนวนเงินตามยอดที่อยู่ในเช็คนั้นจะโอนเข้าบัญชีของธนาคารที่ผู้รับนำเอาเช็คไปขึ้นแทน พูดง่ายๆ ก็คือผู้รับเอาเช็คไปยื่นให้ธนาคารและธนาคารก็จะไปเรียกเก็บจากผู้สั่งจ่ายอีกทีหนึ่งในลักษณะเหมือนเป็นคนกลาง
 
    - เช็คขีดคร่อมเฉพาะ หมายถึงเช็คที่มีการขีดคร่อมไว้ที่มุมบนด้านซ้ายมือเหมือนๆ กันกับเช็คขีดคร่อมธรรมดาทุกประการ แต่จะแตกต่างกันตรงที่เช็คขีดคร่อมเฉพาะมีการเขียนตัวหนังสือระบุความต้องการเป็นการเฉพาะลงไปในช่องว่างระหว่างเส้นคู่ขนานด้วยนั่นเอง โดยเช็คชนิดนี้จะมีการจ่ายเงินให้กับธนาคารที่ถูกระบุไว้ภายในเส้นคู่ขนานเท่านั้น ผู้รับเงินจึงจำเป็นที่จะต้องนำเอาเช็คไปขึ้นกับทางธนาคารที่กำหนดด้วย
 
2. เช็คสลักหลัง เป็นรูปแบบของการโอนเช็คจากบุคคลหนึ่งไปสู่อีกบุคคลหนึ่งกล่าวให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือการโอนกรรมสิทธิ์ของเช็คไปให้ผู้อื่นนั่นเอง โดยเช็คสลักหลังมีด้วยกัน 2 ชนิด คือ เช็คสลักหลังระบุชื่อ เป็นเช็คที่ผู้รับเงินตามที่เขียนระบุไว้ด้านหน้าของเช็คเซ็นชื่อตนเองที่ด้านหลังพร้อมทั้งเขียนระบุลงไปเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจนด้วยว่าต้องการโอนเช็คดังกล่าวไปให้กับใคร เช็คสลักหลังลอย คือเช็คที่ผู้รับเงินเซ็นชื่อที่เอาไว้ที่ด้านหลังเช็คแต่เพียงอย่างเดียวโดยไม่ได้ระบุข้อความอื่นใดที่นอกเหนือจากนี้ จึงทำให้เช็คฉบับนี้กลายเป็นเช็คผู้ถือ (ในกรณีที่ด้านหน้าเช็คไม่ได้มีการขีดคร่อม) ไปโดยทันที ใครจะนำเอาเช็คฉบับนี้ไปขึ้นเงินก็ได้
 
3. เช็คลงวันที่ล่วงหน้า เป็นเช็คที่ผู้ประกอบการในแวดวงธุรกิจนิยมใช้กันเป็นจำนวนมาก เนื่องจากสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการค้ำประกันสำหรับธุรกิจประเภทที่ต้องใช้ระบบการหมุนเวียนเงินได้เป็นอย่างดี ในลักษณะที่ว่ารับสินค้ามาขายก่อนแล้วเงินค่อยตามไปทีหลัง โดยผู้จ่ายจะลงวันที่เอาไว้ล่วงหน้าซึ่งจะนานเท่าไหร่ก็ได้แล้วแต่ผู้จ่ายจะเป็นผู้กำหนด ซึ่งเช็คจะมีผลบังคับใช้และเรียกเก็บเงินจากในบัญชีจริงก็ต่อเมื่อถึงวันที่กำหนดเอาไว้ภายในเช็คเท่านั้น
 
4. เช็คเคลียริ่ง ผู้ประกอบการทุกคนจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจในองค์ความรู้ส่วนนี้ให้มากเป็นพิเศษ เนื่องจากค่อนข้างจะมีการสับสนกันมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ๆ จึงขอทำความเข้าใจให้ตรงกันว่าเช็คเคลียริ่งนั้นเป็นกระบวนการที่ธนาคารต่างๆ เรียกเก็บเช็คระหว่างกัน ซึ่งในอดีตจะต้องใช้เวลาที่นานมากประมาณ 2 - 3 วัน แต่ ณ ปัจจุบันได้มีการพัฒนาขึ้นมามาก โดยการเคลียริ่งแต่ละครั้งนั้นจะกินเวลาไม่เกิน 24 ชั่วโมง ซึ่งเวลาอาจจะน้อยกว่านี้ก็เป็นได้ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับธนาคารที่ผู้ประกอบการเลือกใช้บริการด้วย
 
5. เช็คคืน เป็นลักษณะของเช็คที่ผู้ประกอบการเกลียดและกลัวมากที่สุด เนื่องจากสภาพของเช็คคืนจะเกิดขึ้นได้นั้นก็ด้วยสาเหตุหลักเพียงอย่างเดียวนั่นก็คือ เงินในบัญชีของผู้จ่ายมีไม่เพียงพอกับจำนวนตัวเลขที่ปรากฎอยู่บนเช็คนั่นเอง หรือที่เรียกกันภาษาชาวบ้านว่า “เช็คเด้ง” ซึ่งผู้ประกอบการที่โดนเช็คประเภทนี้สามารถไปแจ้งความกับตำรวจเพื่อดำเนินคดีได้ เนื่องจากกรณีของเช็คคืนส่วนใหญ่นั้นมักจะมีความจงใจในการกระทำผิด
 
     การจ่ายเช็คในแวดวงธุรกิจที่เราพบเห็นกันอยู่ทั่วไปในปัจจุบันนั้น หัวใจสำคัญไม่ได้อยู่ที่มูลค่าของตัวเลขที่ผู้ประกอบการกรอกลงไปในช่องว่างหรือตัวอักษรที่บรรจงเขียนในช่องของผู้รับแต่อย่างใดเลย แต่กลับเป็นเรื่องของความน่าเชื่อถือในตัวผู้สั่งจ่ายมากกว่าซึ่งต้องถือว่ามีค่ามากกว่าเงินตราหลายเท่าตัวนัก เพราะสุดท้ายแล้วเช็คที่มีอยู่ในมือของผู้ประกอบการอาจจะไม่มีประโยชน์อะไรเลยก็เป็นได้ ตราบใดที่ผู้สั่งจ่ายไร้ซึ่งความน่าเชื่อถือในสายตาของผู้รับเช็คในท้ายที่สุด

บทความโดย: http://www.thaifranchisecenter.com

 84048
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์