“ค่าเงินบาท” แข็งค่าขึ้น คืออะไร?…ดีหรือไม่ดี แล้วต้องรับมืออย่างไร?

“ค่าเงินบาท” แข็งค่าขึ้น คืออะไร?…ดีหรือไม่ดี แล้วต้องรับมืออย่างไร?

ค่าเงินบาท ในช่วงนี้จะได้ยินบ่อยๆ ทั้งจากข่าวและจากที่มีคนพูดถึงกันเยอะ หลายคนอยากทำความเข้าใจกับคำๆ นี้ ดังนั้น วันนี้เรามาทำความรู้จักกับ “ค่าเงินบาท” และที่ช่วงนี้ทำให้ “ค่าเงินบาท” แข็งค่าขึ้นคืออะไร? ดีหรือไม่ดี? มีผลอะไรกับเราบ้าง? และเราต้องรับมือยังไงกับภาวะของการแข็งค่าของเงินบาท!!

“ค่าเงินบาท” คือ จำนวนเงินบาทเมื่อแลกกับเงินต่างประเทศ หรือเงินสกุลอื่นๆ โดยอัตราแลกเปลี่ยนที่นิยมนำมากำหนดมากที่สุดคือ “เงินดอลลาร์สหรัฐ (USD)” แต่การเปรียบเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ก็มีการทำอยู่บ้าง

“ค่าเงินบาท…แข็ง” คือ เงินบาทของเรามีค่ามากเมื่อเปรียบเทียบกับเงินสกุลอื่น เช่น เทียบกับเงินดอลล่าร์สหรัฐ (USD) ตัวอย่าง เมื่อ 3 เดือนที่แล้วเงิน 1 ดอลล่าร์สหรัฐ (USD) เทียบเท่ากับ 36  บาทไทย แต่วันนี้ เงิน 1 ดอลล่าร์สหรัฐ (USD) มีค่าเท่ากับเงินไทย 33 บาทเท่านั้น และนี่ก็แปลว่าค่าเงินบาทเราแข็งตัวขึ้น เพราะเงินบาทมีค่ามากขึ้นเมื่อเรานำเงินดอลล่าร์สหรัฐ (USD) ไปแลกเปลี่ยน ซึ่งจะทำให้เราได้รับเงินไทยกลับมาน้อยกว่าเดิม

ค่าเงินบาทแข็งขึ้น ดีหรือไม่?

การที่ค่าเงินบาทแข็งขึ้นนั้น ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยทั้งในทางบวกและลบ หรือที่เข้าใจกันว่ามีทั้งดีและไม่ดี ซึ่งเราไม่สามารถมองเพียงด้านเดียวได้ โดยถ้ามองจากผู้บริโภคหรือประชาชนทั่วไป สำหรับการที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นจะทำให้ประชาชนทั่วไปจ่ายเงินบาทเพื่อซื้อสินค้าที่เป็นสินค้าจากต่างประเทศถูกลง สำหรับสินค้ามีราคาเป็นเงินสกุลอื่นที่ไม่ใช่เงินบาท เช่น ราคาสินค้าที่มีราคาเป็นเงินดอลล่าร์สหรัฐ (USD) เมื่อเงินบาทแข็งค่าขึ้นก็จะทำให้จำนวนเงินบาทที่เราต้องจ่ายเพื่อซื้อสินค้านี้ลดลงด้วย

ตัวอย่าง เราสั่งซื้อกระเป๋าแบรนด์เนมยี่ห้อหนึ่งจากเว็บไซต์ออนไลน์ในราคา 1,000 ดอลล่าร์สหรัฐ (USD) ถ้าเมื่อ 3 เดือนก่อนหน้านี้ค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐอยู่ที่ 1 ดอลล่าร์สหรัฐ เท่ากับ 36 บาท แต่ในตอนที่เราสั่งซื้อกระเป๋าใบนี้เป็นช่วงที่เงินบาทแข็งค่าขึ้น ทำให้เงิน 1 ดอลล่าร์สหรัฐ เท่ากับ 33 บาท ดังนั้น

  • ถ้าเราซื้อเมื่อ 3 เดือนที่แล้ว เราจะต้องจ่ายเงินค่ากระเป๋าจำนวน 36 x 1,000 = 36,000 บาท
  • แต่ถ้าเราซื้อในตอนที่เงินบาทแข็งค่าขึ้น เราก็จ่ายเงินค่ากระเป๋าจำนวน 33 x 1,000 = 33,000 บาท
  • ซึ่งถ้าเราซื้อสินค้าที่คิดราคาเป็นเงินสกุลต่างประเทศเราจะจ่ายเงินถูกกว่า 36,000  33,000 = 3,000 บาทนั่นเอง

สรุปคือ ผู้บริโภคหรือประชาชนทั่วไปอย่างเราจะได้รับผลดีจากราคาสินค้านำเข้าที่ถูกลง ซึ่งจะทำให้มีเงินเหลือไปใช้ในส่วนอื่นมากขึ้น รวมไปถึงการเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศ การลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศ หรือการไปเรียนต่อในต่างประเทศก็จะทำให้จ่ายเงินบาทถูกลงด้วยเช่นกัน

แต่ในทางกลับกันของค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจะส่งผลให้คนที่ทำอาชีพเกี่ยวกับการส่งออก รวมถึงค้าขายเกี่ยวกับการส่งออกนี้จะลำบากมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของการเสนอราคาซึ่งอาจทำให้เกิดการขาดทุนได้ กำไรจากธุรกิจก็น้อยลง จนทำให้ผู้ประกอบการรายย่อย ธรุกิจ SME เกิดความเสี่ยงอาจถูกกดราคาสินค้า โดยเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวกับผลิตผลทางการเกษตรที่ส่งออกไปขายยังต่างประเทศ

สรุปคือ สำหรับผลเสียของการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทอาจจะส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจที่เน้นการแข่งขันจากต้นทุนที่ต่ำได้ ซึ่งจะทำให้เกิดการปิดตัวลงของธุรกิจ ทำให้มีคนตกงานมากขึ้น ว่างงานมากขึ้น จนส่งผลทำให้เศรษฐกิจสะดุดและฝืดเคืองได้ เพราะคนใช้เงินขาดรายได้ไม่มีกำลังในการจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวัน

ต้องรับมืออย่างไร…เมื่อค่าเงินบาทแข็งขึ้น?

ปกติแล้ว การที่เงินบาทแข็งค่าขึ้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับผู้ส่งออก เนื่องจากสินค้าที่เคยขายได้ในราคาหนึ่งในช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่ในเวลาต่อมาเป็นช่วงที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นก็ทำให้กำไรที่เคยได้ลดลง เช่น ผู้ส่งออกรายหนึ่งเคยขายสินค้าได้ในราคา 36 บาทต่อ 1 ดอลล่าร์สหรัฐ แต่ต่อมาเมื่อเกิดภาวะเงินบาทแข็งค่าขึ้น ทำให้ผู้ส่งออกรายนี้ขายสินค้าได้เพียง 33 บาทต่อ 1 ดอลล่าร์สหรัฐ จึงเป็นเหตุทำให้กำไรจากการส่งออกสินค้าลดลง หรือบางรายถึงขั้นขาดทุนกันเลยทีเดียว และหากภาวะค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นระยะยาวหรือเร็วกว่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาคเดียวกัน ก็จะส่งผลต่อการแข่งขันของอุตสาหกรรมที่เน้นต้นทุนต่ำเป็นสำคัญ ซึ่งอาจทำให้ผู้ส่งออกรายนั้นต้องปิดกิจการ คนงานตกงาน ดังนั้น การรับมือจากวิกฤตค่าเงินบาทแข็งขึ้นในส่วนของผู้ประกอบการธุรกิจการส่งออกจึงจำเป็นที่จะต้องให้ภาครัฐเข้ามาใช้มาตรการรองรับวิกฤตเหล่านี้ด้วย

แต่ในส่วนของประชาชนทั่วไป หรือมนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆ หากเกิดภาวะทางการเงินที่ไม่ปกติเกิดขึ้น ซึ่งไม่ว่าจะเป็น “เงินบาทแข็งค่าขึ้น” หรือ “เงินบาทอ่อนตัวลง” เราจะต้องมีสติในการใช้จ่าย ไม่หลงไปกับภาวะดังกล่าว จะซื้อจะขายอะไรก็ต้องรอบคอบ ควรมีการเก็บออมเงินเพื่ออนาคต เพราะไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นเราก็จะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสบาย ไม่เดือดร้อน

บทความโดย : https://wealthcare.krungthai-axa.co.th 

 51822
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์