ลดภาษีด้วยประกันชีวิต ดีอย่างไร และ ลดหย่อนได้เท่าไร ?

ลดภาษีด้วยประกันชีวิต ดีอย่างไร และ ลดหย่อนได้เท่าไร ?


ลดภาษีด้วยประกันชีวิต ดีอย่างไร?

ประกันชีวิต โดยเฉพาะประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ เป็นตัวช่วยที่มักถูกเลือกเป็นลำดับแรก ๆ โดยเฉพาะผู้ที่อยากเน้นลดหย่อนภาษีเป็นหลัก ไม่อยากให้เงินต้นหาย มีผลประโยชน์ที่เป็นตัวเงินในจำนวนที่รู้แน่นอนนับตั้งแต่วันที่ตัดสินใจ
สำหรับผู้ที่ต้องการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงหรือรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้ต่ำ ถ้ามีเงินเหลือมากพอก็คงเลือกที่จะนำไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลหรือหุ้นกู้เอกชน ที่ได้รับผลตอบแทนในรูปแบบดอกเบี้ยในจำนวนที่แน่นอนตราบเท่าที่ผู้ออกยังไม่ประสบปัญหาผิดนัดชำระหนี้ (Default Risk) และถือเป็นทางเลือกลงทุนที่สร้าง Passive Income ได้เป็นอย่างดี ดังนั้น ถ้ามีหุ้นกู้ตัวไหนที่ซื้อแล้วสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ คงมีคนรีบแห่กันไปจองซื้อจนเกลี้ยงแน่นอน
“เงินคืน” ที่ได้รับจากประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ จะว่าไปก็เป็นผลตอบแทนที่มีรูปแบบเป็นพันธะสัญญาระหว่างบริษัทประกัน (เปรียบได้กับผู้ออกหุ้นกู้) กับผู้เอาประกัน (เปรียบได้กับผู้ถือหุ้นกู้) เพียงแต่จำนวนเงินคืนที่ว่ามีการกำหนดเป็น % ของเงินเอาประกัน ไม่ใช่ % ของเบี้ยประกันที่จ่ายไป ซึ่งต่างจากดอกเบี้ยของหุ้นกู้ที่กำหนดเป็น % ของมูลค่าที่ตราไว้ (หรือเท่ากับจำนวนเงินลงทุนตอนจองซื้อครั้งแรก) และเงินคืนที่ว่าอาจมีความถี่ในการจ่ายคืนเป็น รายปีหรือปีเว้นปี ตามแต่ละแบบประกัน ซึ่งอาจถี่น้อยกว่าดอกเบี้ยของหุ้นกู้
แต่ข้อดีของเงินคืนจากประกันชีวิตคือ เงินคืนนั้นไม่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย เหมือนดอกเบี้ยหุ้นกู้ จึงไม่น่าแปลกที่เราอาจมองว่า ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ที่มีเงินคืนระหว่างสัญญาและมีการชำระเบี้ยเพียงครั้งเดียว (Single Premium) เป็นทางเลือกในการสร้าง Passive Income ที่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้

ลดหย่อนภาษีด้วยเบี้ยประกัน

1. เบี้ยประกันชีวิตทั่วไป รวมถึงประกันแบบสะสมทรัพย์

สามารถลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท โดยประกันต้องคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป

2. เบี้ยประกันสุขภาพตัวเอง

เบี้ยประกันสุขภาพ รวมถึงเบี้ยประกันอุบัติเหตุที่คุ้มครองสุขภาพ สามารถลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตทั่วไปแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท

3. เบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา

ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่รวมกันไม่เกิน 15,000 บาท และสามารถรวมประกันสุขภาพพ่อแม่ของคู่สมรสมาลดหย่อนภาษีได้ ในกรณีที่คู่สมรสไม่มีรายได้

4. เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ

ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15% ของรายได้รวมทั้งปี และต้องไม่เกิน 200,000 บาท หรือต้องไม่เกิน 300,000 บาท หากไม่มีการลดหย่อนภาษีด้วยเบี้ยประกันชีวิต และเมื่อรวมกับหมวดการลงทุนเพื่อการเกษียณแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท

ฝากไว้ ก่อนซื้อประกัน

– เช็กสิทธิให้ดีว่าปีนี้มีจ่ายเบี้ยประกันชีวิตและเบี้ยประกันสุขภาพไปแล้วเท่าไร เหลือซื้อได้อีกเท่าไรเพื่อจะได้ไม่เกิน 100,000 บาท
– อย่ามัวแต่คิดว่าต้องลดภาษีให้ได้เยอะ ๆ ต้องเช็กความพร้อมของตัวเองด้วย เพราะถ้าซื้อแล้วเวนคืนหรือยกเลิกประกันก่อน 10 ปี ก็ต้องคืนภาษีที่ได้ลดหย่อนมา แถมต้องจ่ายเงินเพิ่มให้สรรพากรอีกด้วย
– ถ้าประกันชีวิตแบบ 10/1 ยังไม่ถูกใจ แล้วกำลังมองหาประกันที่อื่นอยู่ ต้องดูว่าเบี้ยประกันขั้นต่ำที่ซื้อได้สูงเกินสิทธิลดหย่อนที่เหลืออยู่ไหม เพราะหลาย ๆ ที่เบี้ยประกันขั้นต่ำก็สูงกว่า 10,000 บาท
– ถ้าซื้อปลาย ๆ ปี ก็อย่าลืมเช็กว่าสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ทันปีนี้ไหม เพราะซื้อแล้วกรมธรรม์อาจไม่ได้อนุมัติรวดเร็วทันใจเหมือนอย่างประกันชีวิต One Plus 10/1
หมายเหตุ: การเปรียบเทียบเงินคืนเฉลี่ยปีละ 1.5% ต่อปีของเบี้ยที่จ่ายไป เทียบกับอัตราดอกเบี้ย 1.76% ต่อปีของหุ้นกู้นั้น เป็นเพียงการเปรียบเทียบเบื้องต้น โดยพิจารณาปัจจัยด้านภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% ของดอกเบี้ย เป็นหลักเท่านั้น ไม่ใช่การคำนวณ IRR ของแบบประกัน

เรื่องข้างต้นนี้เขียนโดย ราชันย์ ตันติจินดา K-Expert ฝ่ายพัฒนาการให้คำปรึกษาลูกค้า ธนาคารกสิกรไทย
ที่มาบทความ >> ddproperty.com <<

 522
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์