Metaverse คืออะไร

Metaverse คืออะไร



Metaverse คืออะไร ประกอบด้วยเทคโนโลยีอะไรบ้าง เกี่ยวข้องอย่างไรกับ Cryptocurrency ภายใน 5 นาที

Metaverse เป็นคำศัพท์แห่งอนาคตที่เราได้ยินมาอย่างต่อเนื่องเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ซึ่งได้กลายเป็นที่นิยมและได้รับการพูดถึงทั่วโลก หลังจากที่ Mark Zuckerberg CEO ของ Facebook ได้ประกาศเปลี่ยนชื่อบริษัทจากเดิม Facebook เป็น Meta เพื่อพาธุรกิจก้าวสู่ระยะต่อไปที่เป็นมากกว่าโซเชียลมีเดีย บทความนี้จะพาไปทำความเข้าใจกันว่า Metaverse คืออะไร ทำอะไรได้บ้าง ต้องประกอบไปด้วยเทคโนโลยีอะไรบ้าง และเกี่ยวข้องอย่างไรกับ Cryptocurrency  

Metaverse  

Metaverse  คืออะไร ? 

Metaverse มาจากคำว่า Meta กับ Verse รวมแล้วได้ความหมายว่าเป็น “จักรวาลที่อยู่เหนือจินตนาการ” ปรากฏครั้งแรกในนวนิยาย Sci-Fi ที่มีชื่อว่า Snow Crash เป็นโลกอีกใบที่ให้ผู้คนได้เข้ามามีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันผ่านการจำลองเป็นตัวละครต่าง ๆ (Avatar) 

เมื่อกาลเวลาผ่านไป คนก็ได้เข้าถึงเทคโนโลยีและโลกอินเทอร์เน็ตพัฒนาอย่างก้าวกระโดด หลาย ๆ คนก็ได้แต่งเติมรายละเอียด Metaverse เพิ่มเติม ขอบเขตของ Metaverse จึงไม่ได้จำกัดอยู่แค่โลก หรือจักรวาลแห่งหนึ่ง แต่เป็นอะไรก็ได้ ที่เกิดจากเทคโนโลยีและช่วยเชื่อมต่อผู้คนให้สามารถสื่อสารและทำกิจกรรมกันได้ 

ตัวอย่างเช่น เกมออนไลน์ที่มีผู้เล่นสวมบทบาทเป็นตัวละครอวาตาร์ (Avatar) เหมือนที่พบในโลก OASIS ของนวนิยายเรื่อง Ready Player One หรือจะเป็นพื้นที่โลกเสมือนจริงที่ให้คนได้พบปะสังสรรค์และทำกิจกรรมต่าง ๆ ในโปรแกรม Zoom แม้กระทั่งเป็นแพลตฟอร์ม ที่อยู่ของ community ที่คอยแบ่งปันคอนเทนต์ใหม่ ๆ ร่วมกัน อาทิ Facebook, Instagram หรือ Twitter

อย่างไรก็ตาม Metaverse ก็ยังไม่มีนิยามหนึ่งเดียวแท้จริง เพราะตอนนี้ Metaverse ยังคงเป็นแนวคิดในอุดมคติที่รอคนมาสานฝันให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา ภาพรวมของ Metaverse จึงใกล้เคียงกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (World Wide Web) แห่งอนาคตที่ค่อย ๆ กลายเป็นรูปแบบ 3 มิติ  มีการไหลเวียนและส่งต่อธุรกิจ ข้อมูล และเครื่องมือการสื่อสารอย่างต่อเนื่อง และสามารถใช้งานพร้อมกันได้อย่างไร้รอยต่อ เหมือนเป็นการจำลองโลกทางกายภาพให้ไปอยู่ในโลกคู่ขนานรูปแบบดิจิทัล

ระบบนิเวศของ Metaverse ที่พอจินตนาการได้คงจะเป็นเหตุการณ์ที่ผู้ใช้รายหนึ่งสร้างเอกสารใน Microsoft Word ส่งผ่าน Gmail ไปยังเพื่อนร่วมงานเพื่ออ่านบน iPad จะเห็นได้ว่ามีการใช้งานเทคโนโลยีหลายประเภทในเวลาใกล้เคียงกัน และมีการส่งต่อวัตถุดิจิทัลอย่างไฟล์เอกสารกันข้ามพรมแดนโดยที่วัตถุนั้นยังคงสภาพเดิมไม่ว่าจะผ่านตัวกลางใดก็ตาม

Metaverse  กับ Cryptocurrency

ลองย้อนเวลาไปไม่กี่ปีก่อนหน้า เราคงไม่เห็นว่า Metaverse จะเกิดขึ้นได้ เพราะการใช้ชีวิตของเรายังต้องอาศัยการเดินทาง และต้อง สื่อสารกับคนตัวเป็น ๆ แต่ด้วยการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ได้เร่งพัฒนาให้มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตให้เข้ามาอยู่ในโลกดิจิทัลอย่างฉับพลัน  การรักษาระยะห่างทางสังคมได้ส่งผลให้คนนับล้านต้องทำงานจากที่บ้าน และทำกิจกรรมผ่านทางไกล จึงทำให้เกิดการผุดขึ้นของแพลตฟอร์มดิจิทัลเป็นดอกเห็ด อาทิ Zoom, Slack หรือ Microsoft Teams 

จากความแปลกใหม่สู่ความเคยชิน ในวินาทีนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายคนเริ่มคุ้นเคยกับการจำลองตัวเองในฐานะตัวละครหนึ่ง (Avatar) เพื่อมีปฏิสัมพันธ์กับคนในโลกดิจิทัลได้อย่างไร้พรมแดน เราใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลและเกมออนไลน์จนกลายเป็นพฤติกรรมหลัก จนทำให้จากแนวคิด Metaverse เริ่มก่อตัวเป็นรูปร่างและได้รับความสนใจ

ยิ่งไปกว่านั้น การมาของสกุลเงินดิจิทัล Cryptocurrency และสินทรัพย์ดิจิทัล ก็ได้สร้างการรับรู้ให้กับคนว่าแท้จริงแล้ว เราสามารถซื้อ-ขายสินค้าและบริการด้วยเงินสมมติในโลกดิจิทัลได้ อีกทั้งสามารถครอบครอง ซื้อขาย แลกเปลี่ยน ภาพจำลองทางดิจิทัลที่ไม่สามารถจับต้องได้เลย ไม่ว่าจะเป็นผลงานศิลปะ การแสดง หรือคลิปคอนเสิร์ตออนไลน์ก็ตาม ครั้นพอคนเริ่มยอมรับ Cryptocurrency กันอย่างแพร่หลาย ทำให้กิจกรรมทางดิจิทัลเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้และมีอยู่จริงมากขึ้น 

Metaverse จะเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอะไรบ้าง ?

อย่างที่ทราบกันดีว่า Metaverse ไม่ใช่เพียงแค่โลกเสมือนจริง  (Virtual Reality) ที่เปิดให้คนสื่อสารเพียงอย่างเดียว แต่ก็เป็นประสบการณ์หนึ่งที่ได้เชื่อมต่อผู้คนระหว่างโลกแห่งความเป็นจริงไปสู่โลกดิจิทัล โดยอาศัยการใช้เทคโนโลยีหลายประเภท เพื่อทำกิจกรรมใดก็ได้พร้อม ๆ กัน คำศัพท์ที่ปรากฏอยู่ดังต่อไปนี้มีส่วนประกอบสร้าง Metaverse ให้สมจริงและจับต้องได้มากขึ้น

  1. Assisted Reality เทคโนโลยีผู้ช่วยที่อำนวยความสะดวกให้ผู้คนสามารถดูหน้าจอและโต้ตอบกับหน้าจอได้โดยไม่ต้องใช้มือ (hands-free) ตัวอย่างอุปกรณ์ที่ใช้คือ แว่นตาอัจฉริยะ ที่เชื่อมต่อกับเครือข่าย ให้ผู้ใช้สื่อสารและสั่งการผ่านเสียงก็จะได้ข้อมูลขึ้นสู่สายตาทันที

  2. Augmented Reality (AR) เทคโนโลยีโลกเสมือนที่สามารถปรากฏอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง ส่วนใหญ่ธุรกิจค้าปลีกจะใช้เทคโนโลยี AR เพื่อให้ลูกค้าสามารถทดสอบนำสินค้าในโลกออนไลน์ไปจำลองในโลกจริง ตัวอย่างเช่น IKEA แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ระดับโลก ได้ผลิตแอปพลิเคชัน เพื่อให้ลูกค้าได้ทดลองนำรูปเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากเทคโนโลยี AR ไปทดลองวางในห้องตนเองได้

  3. Meatspace คำที่ใช้เรียกโลกทางกายภาพ หรือโลกที่เราใช้ชีวิตอยู่เป็นส่วนใหญ่

  4. Multiverse หรือ จักรวาลโลกคู่ขนาน ใช้เรียกแพลตฟอร์ม หรือ Community ในโลกดิจิทัลที่ทำงานอิสระจากกันและกัน ตัวอย่างเช่น Facebook, Minecraft, Instagram, Roblox, Fortnite, Discord โดยตามทฤษฎีแล้ว Metaverse สามารถดึง Multiverse เหล่านี้มาทำงานอยู่ในที่เดียวได้

  5. NFT หรือ Non-Fungible Tokens เป็นเสมือนเครื่องยืนยันว่าใครก็ตามสามารถครอบครอง ซื้อ หรือ ขาย และสร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ใดก็ตามที่ปรากฏอยู่ในโลกดิจิทัลเท่านั้น โดยมีเทคโนโลยีบล็อกเชนคอยกำกับความเป็นเจ้าของและป้องกันการขโมย ตัวอย่างของ NFT ได้แก่  ผลงานศิลปะ บัตรกีฬา ของสะสม โดย NFT สามารถซื้อขายได้โดยสกุลเงินดิจิทัล  Cryptocurrency 

  6. Virtual Reality หรือ ประสบการณ์เสมือนจริง เป็นการใช้อุปกรณ์ หรือเทคโนโลยีเพื่อเชื่อมโยงผู้ใช้งานกับโลกดิจิทัล ตัวอย่างเช่น การที่ผู้คนในในนวนิยายเรื่อง Ready Player One ใช้ชุดแว่น Virtual Reality เพื่อเดินทางสู่โลกแห่งเกม 

Metaverse ใกล้เกิดขึ้นจริงแล้วหรือยัง ?

หลังจากที่ได้ศึกษาแนวคิดของ Metaverse และเห็นการเกิดขึ้นมาของเทคโนโลยีที่ช่วยอำนวยความสะดวกผู้ใช้งานให้สามารถเชื่อมต่อกันได้อย่างไร้พรมแดน หลายคนอาจเอะใจแล้วไม่น้อยว่า เราอาจจะอยู่ในโลก Metaverse แล้วก็เป็นได้ 

ประโยคข้างต้นมีความจริงอยู่ส่วนหนึ่งตรงที่ขณะนี้ เราสามารถทำกิจกรรม มีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันในโลกดิจิทัลได้อย่างเต็มรูปแบบ อย่างไรก็ตาม Metaverse ก็ยังไม่สามารถเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ เพราะยังขาดองค์ประกอบสำคัญที่ว่า เทคโนโลยี หรือการไหลเวียนส่งต่อข้อมูลทั้งหมดที่เกิดขึ้นจะต้องทำงานได้พร้อมกันและมีเสถียรภาพ

ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ผู้คนนับล้านยังห่างไกลจากแนวคิดของ Metaverse อยู่มาก เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าถึงและใช้ชีวิตในโลกเสมือนจริงได้ทุกที่ทุกเวลา อีกทั้ง ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีอินเทอร์เน็ตที่เร็วและความหน่วงต่ำเพื่อเข้าถึงเทคโนโลยีหลายประเภทได้ นอกจากนี้ โลกออนไลน์ที่เราอาศัยอยู่ยังไม่สามารถจัดการสตรีมข้อมูลหลายร้อยรายการพร้อมกัน เพราะคลาวด์ยังไม่รองรับการประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่มหึมาได้

จะเห็นได้ว่าต่อให้มีการผลิตเทคโนโลยีให้ตอบโจทย์แนวคิด Metaverse มากเท่าไร การเชื่อมต่อทางอินเทอร์เน็ตยังเป็นกุญแจสำคัญที่จะสร้างภาพของ Metaverse ให้มีอยู่จริง หากในอนาคตคนส่วนใหญ่บนโลกใบนี้ สามารถเชื่อมต่อโลกอินเทอร์เน็ตได้ด้วยความเร็วสูงกว่าระดับ 6G เราอาจเห็นโลกทั้งใบของ Metaverse กับตาตนเองก็เป็นได้

Kultida Techsauce 
ที่มาบทความ 

 548
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์