10 Checklist ชวนคิดเรื่องค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ

10 Checklist ชวนคิดเรื่องค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ

ไม่มีใครรู้ว่าเมื่อเกษียณไปแล้วจะต้องใช้เงินในแต่ละเดือนเท่าไหร่ แต่หลักการวางแผนการเงินเพื่อเกษียณ ค่าใช้จ่ายหลังเกษียณน่าจะประมาณ 70% ของค่าใช้จ่ายก่อนเกษียณ เนื่องจากวัยเกษียณอาจมีค่าใช้จ่ายบางอย่างที่ลดลง แต่ก็มีค่าใช้จ่ายบางอย่างที่เพิ่มสูงขึ้นมากกว่าวัยทำงาน ดังนั้น จะต้องสำรวจค่าใช้จ่ายที่อาจเพิ่มขึ้น เพื่อจะได้วางแผนออมเงินให้เพียงพอต่อการใช้ชีวิตหลังเกษียณ

ปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้วางแผนเกษียณได้อย่างมั่นใจยิ่งขึ้น คือ การวางแผนค่าใช้จ่าย ซึ่งการคำนวณค่าใช้จ่ายหลังเกษียณนั้น มีหลักคิดที่ว่า ค่าใช้จ่ายหลังเกษียณน่าจะน้อยกว่าค่าใช้จ่ายก่อนเกษียณ เนื่องจากค่าใช้จ่ายหลาย ๆ อย่างที่เกี่ยวกับการทำงานจะลดลง ไม่ว่าจะเป็นค่าภาษี ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าน้ำมัน ค่ารถ ค่าอาหาร ค่าเสื้อผ้าหน้าผม ไปจนถึงภาษีสังคม จึงมีหลักการคำนวณที่เรียกว่า Replacement Ratio คือ ค่าใช้จ่ายหลังเกษียณน่าจะมีประมาณ 70% ของค่าใช้จ่ายก่อนเกษียณ

ตัวอย่างเช่น มีค่าใช้จ่ายก่อนเกษียณอยู่ที่เดือนละ 30,000 บาท ถ้าใช้หลัก Replacement Ratio 70% คาดว่าหลังเกษียณน่าจะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 30,000 x 70% = 21,000 บาทต่อเดือน เป็นต้น ทีนี้ลองมาดูว่าค่าใช้จ่ายหลังเกษียณที่จะลดลง หากจัดกลุ่มเข้าด้วยกันจะประกอบด้วยอะไรบ้าง 

กลุ่มที่ 1 ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการทำงาน ประกอบด้วยค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม เงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ค่าใช้จ่ายเหล่านี้จะถูกหักเมื่อมีรายได้จากการทำงานในบริษัท โดยเมื่อเลิกทำงานแล้ว ค่าใช้จ่ายกลุ่มนี้ก็จะหมดไปด้วย

กลุ่มที่ 2 ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ประกอบด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงาน เช่น ค่าน้ำมัน ค่าที่จอดรถ ค่าทางด่วน ค่าตั๋วรถไฟฟ้า รถสาธารณะ ค่าอาหารกลางวัน ค่าชุดทำงานเสื้อผ้าหน้าผม ถ้าเกษียณแล้วอยู่บ้านเป็นหลัก ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ก็จะลดลงพอสมควร

กลุ่มที่ ค่าใช้จ่ายกิจกรรมทางสังคม เช่น งานเลี้ยงสังสรรค์ในที่ทำงาน งานเลี้ยงรุ่น การเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ซองทำบุญ เมื่อเกษียณแล้วค่าใช้จ่ายส่วนนี้ก็จะลดลง

 

แต่ช้าก่อน!!อย่าเพิ่งดีใจไปว่าค่าใช้จ่ายทุกประเภทจะลดลง เพราะถึงแม้จะเกษียณไปแล้วค่าใช้จ่ายหลายอย่างยังคงอยู่และอาจเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น มาดูกันว่าค่าใช้จ่ายอะไรบ้างที่เมื่อเกษียณไปแล้วยังคงจ่ายกันต่อไป 

 

1. ค่ารักษาพยาบาล ถือเป็นค่าใช้จ่ายอันดับต้น ๆ ของวัยเกษียณ เพราะมนุษย์เงินเดือนที่เคยมีสวัสดิการจากที่ทำงานหรือสิทธิรักษาพยาบาลจากกองทุนประกันสังคมก็จะหมดไปพร้อมกับการทำงานและการสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 (เว้นแต่ข้าราชการหรือรัฐวิสาหกิจที่ยังมีสวัสดิการรักษาพยาบาลรองรับ)

ทั้งนี้ ปัจจัยที่จะส่งผลว่าค่าใช้จ่ายเพื่อรักษาพยาบาลมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับการดูแลสุขภาพและไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต และถึงแม้ว่าเป็นข้าราชการ แต่หากโรงพยาบาลใกล้บ้านเป็นโรงพยาบาลเอกชน สิทธิรักษาพยาบาลที่มีก็ไม่สามารถรองรับค่าใช้จ่ายได้ทั้งหมด ในขณะที่สิทธิพื้นฐานของมนุษย์เงินเดือนหลังเกษียณ คือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แต่ถ้าเลือกรักษาพยาบาลโรงพยาบาลเอกชนก็ไม่พอเช่นกัน

2. ค่าใช้จ่ายในบ้าน เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเทอร์เน็ต ซึ่งก่อนเกษียณชีวิตส่วนใหญ่จะอยู่ที่ออฟฟิศ แต่เมื่อเกษียณแล้วก็อยู่บ้านทั้งวัน ค่าใช้จ่ายภายในบ้านจะเพิ่มขึ้น สังเกตได้จากช่วงที่ Work From Home ต่างบ่นกันว่าค่าใช้จ่ายภายในบ้านสูงกว่าช่วงที่ไปทำงานที่ออฟฟิศอีก

3. ค่าอาหาร ในช่วงไปทำงานที่ออฟฟิศส่วนใหญ่จะทานข้าวนอกบ้านมื้อเช้ากับมื้อกลางวัน แต่เมื่อเกษียณไปแล้วถ้าสามารถทำอาหารทานเองได้ ค่าใช้จ่ายส่วนนี้อาจไม่เปลี่ยนแปลงมากนักหรืออาจประหยัดกว่าเดิม

4. ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบ้าน เมื่อถึงวัยเกษียณก็ต้องปรับปรุงบ้านเพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการใช้ชีวิต เช่น ทำราวจับบันได ราวจับในห้องน้ำ ทำให้ต้องใช้เงินก้อนใหญ่ในการปรับปรุงซ่อมแซม แต่ถ้าเกษียณแล้วเลือกอาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียม ถึงแม้จะไม่มีค่าใช้จ่ายปรับปรุงเหมือนอยู่บ้าน แต่ยังมีค่าใช้จ่ายส่วนกลางของนิติบุคคล ค่าปรับปรุงลิฟต์ เป็นต้น แต่การอยู่บ้านก็มีค่าส่วนกลางของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรเหมือนกัน ดังนั้น สิ่งที่ต้องพึงระวัง คือ ค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่ต้องจ่ายทุกปี และมักมีการปรับเพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อด้วย

5. ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเดินทาง เช่น รถยนต์ เพราะบางคนที่มีรถประจำตำแหน่ง หรือมีสวัสดิการค่าเดินทาง รวมถึงค่าโทรศัพท์ แต่เมื่อเกษียณไปแล้วสวัสดิการส่วนนี้จะหมดไป อาจต้องเตรียมเงินก้อนเพื่อไปดาวน์รถคันใหม่ไว้ใช้ หมายความว่า จะต้องกันเงินเอาไว้ผ่อนรายเดือนด้วย

6. ค่าใช้จ่ายดูแลผู้อยู่ในอุปการะ ผู้ที่มีบุตรและยังอยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียนก็ต้องมีเงินเก็บเพื่อการศึกษาของบุตรด้วย นอกจากนี้ ด้วยสังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยแล้ว ประกอบกับคนไทยมีอายุยืนยาวมากขึ้น การดูแลผู้อยู่ในอุปการะจึงไม่ได้หมายถึงบุตรหลานเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงคุณพ่อคุณแม่ คุณปู่คุณย่า คุณตาคุณยาย ด้วย

7. ค่าใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว เชื่อว่าการเดินทางท่องเที่ยวเป็นกิจกรรมในฝันของทุกคน ซึ่งแน่นอนย่อมมีค่าใช้จ่ายพอสมควร ดังนั้น ควรวางแผนก่อนเดินทางให้ดีเพราะถ้าเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศต้องใช้เงินก้อนใหญ่มากกว่าการท่องเที่ยวในประเทศ

8. ค่าใช้จ่ายในการทำกิจกรรมต่าง ๆ งานอดิเรกหรือการดูแลตัวเอง เช่น เล่นกีฬา เรียนร้องเพลง เรียนทำอาหาร เรียนทำขนม เรียนวาดรูป การเข้ากลุ่มกิจกรรมสังคม ซื้อหนังสือ เลี้ยงสัตว์เลี้ยง การเข้าสปาหรือนวด เป็นต้น แน่นอนว่าทุกกิจกรรมจะมีค่าใช้จ่ายมากน้อยต่างกันไป

9. ค่าใช้จ่ายเพื่อทำบุญหรือบริจาคช่วยเหลือสังคม สำหรับผู้ที่พอมีกำลังทรัพย์ การช่วยเหลือสังคมก็เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่สร้างความสุขใจทั้งผู้ให้และผู้รับ อย่างไรก็ตาม ควรให้แต่พอดีตามที่ตัวเองทำไหว

10. ค่าจ้างคนดูแล ในวันที่ไม่สามารถทำงานบ้านได้หรือในยามที่เริ่มเจ็บป่วยและช่วยเหลือตัวเองได้น้อยลง ไปจนถึงวันที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เลย ก็ต้องจ้างคนมาดูแลแทน เช่น พยาบาล แม่บ้านทำความสะอาด ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนนี้ถือว่าสูงพอสมควร 

จะเห็นได้ว่า เมื่อเกษียณไปแล้วจะมีค่าใช้จ่ายบางอย่างลดลง แต่บางอย่างอาจเพิ่มขึ้น ดังนั้น การเตรียมตัวเพื่อเกษียณเป็นสิ่งที่ควรวางแผนกันตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะถ้าเก็บเงินและเพียงพอย่อมทำให้การใช้ชีวิตหลังเกษียณมีความสุข เป็นไปตามแผนที่วางเอาไว้และไม่เป็นภาระลูกหลาน

แหล่งที่มา : Link

 598
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์