เป็นหนี้อย่างไร ให้ธุรกิจได้ประโยชน์

เป็นหนี้อย่างไร ให้ธุรกิจได้ประโยชน์

       การไม่มี “หนี้” คือลาภอันประเสริฐ แต่ในแง่ของการทำธุรกิจนั้น การเป็นหนี้อาจไม่ใช่เรื่องร้ายเท่าที่คิด นี่เป็นมุมมองที่น่าสนใจของการเป็นหนี้จากการกู้สินเชื่อธนาคาร ที่เอสเอ็มอีต้องรู้

1. เป็นหนี้ แล้วหักภาษีได้ 

       ดอกเบี้ยที่เกิดจากสินเชื่อต่าง ๆ ถือเป็นค่าใช้จ่ายที่นำไปหักลดหย่อนภาษีได้  ในขณะที่การใช้เงินทุนของตัวเองไม่สามารถทำได้

2. เป็นหนี้ ช่วยรักษาความเป็นเจ้าของกิจการได้

       เฉพาะในกรณีของธุรกิจที่มีหลายหุ้นส่วน หลายคนอาจคิดว่าดอกเบี้ยสินเชื่อแพงจึงอยากใช้เงินส่วนตัว แต่หุ้นส่วนคุณอาจไม่ได้มีเงินลงทุนพร้อมกัน เช่น มีหุ้นส่วน 4 คน แต่มีคนที่พร้อมลงทุน 2-3 คน แบบนี้สัดส่วนการถือหุ้นจะเปลี่ยนทันที แต่ถ้าลงทุนโดยใช้สินเชื่อจากธนาคาร จะยังคงสถานะสัดส่วนกรรมสิทธิ์ของบริษัทได้เช่นเดิม 

3. เป็นหนี้ แต่มีสภาพคล่องสำรอง

       หากคุณมีเงินไม่มากพอ และนำเงินส่วนตัวมาใช้ลงทุนธุรกิจ อาจทำให้ไม่เหลือเงินไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉินหรือเร่งด่วนได้

4. เป็นหนี้ ช่วยเพิ่มโอกาสโตให้ธุรกิจ

       เพราะบางครั้งโอกาสอาจเข้ามาแบบไม่ทันตั้งตัว เช่น มีออร์เดอร์ใหญ่เข้ามา หากมีเงินทุนไม่มากพออาจพลาดโอกาสนั้นได้ การกู้สินเชื่อจึงเป็นตัวช่วยให้ธุรกิจเติบโตได้เร็วขึ้น

5. เป็นหนี้ อาจให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากว่า

       ยกตัวอย่าง หากคุณมีเงินทุนอยู่ 30 ล้านบาท แทนที่จะนำมาลงทุนธุรกิจ แต่ใช้การขอสินเชื่อมาลงทุนแทน อาจจะเสียดอกเบี้ยที่ 6-7% แล้วนำเงินส่วนตัวไปลงทุนประเภทอื่นที่ได้ผลตอบแทนสูงกว่า เช่น ผลตอบแทน 8-9% แสดงว่าดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายกับผลตอบจากการลงทุนลงทุนประเภทอื่นนั้น มีส่วนต่างที่คุณจะได้รับผลประโยชน์ที่คุ้มค่ากว่า ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การลงทุนและผลตอบแทนของแต่ละคนหรือแต่ละบริษัทจะได้ไม่เท่ากันด้วย 

เคล็ดลับการเป็นหนี้ที่ดี ให้ธุรกิจได้ประโยชน์

– ต้องใช้สินเชื่อให้ถูกวัตถุประสงค์การกู้ยืม ไม่เช่นนั้นอาจทำให้เกิดปัญหาทางธุรกิจได้ ยกตัวอย่าง 

  • ผู้ประกอบการหลายคนเลือกที่จะกู้เงินระยะสั้น 3 เดือน 6 เดือน เพราะดอกเบี้ยถูกกว่า เพื่อนำไปลงทุนในระยะยาว เช่น นำเงินไปสร้างโรงงาน ซึ่งกว่าโรงงานจะให้ผลตอบแทนกลับมาต้องใช้ระยะเวลาเป็นปี ทำให้เกิดปัญหาไม่สามารถชำระหนี้ตามกำหนดได้ 
  • ผู้ประกอบการใช้ธุรกิจ A ในการขอสินเชื่อ แต่กลับนำเงินที่ได้ไปใช้กับธุรกิจ B หากธุรกิจ A เกิดขาดสภาพคล่อง แต่ธุรกิจ B ยังไม่สามารถสร้างรายได้ กลายเป็นว่าทั้งสองธุรกิจของคุณอาจล้มไปด้วยทั้งคู่

– ต้องชำระหนี้ให้ตรงเวลา เพราะนั่นจะกลายเป็นเครดิตทางการเงินให้ตัวคุณเอง เนื่องจากเวลาธนาคารอนุมัติสินเชื่อหากเป็นลูกค้าเก่าจะดูจากประวัติการชำระเงิน หากเป็นลูกค้าใหม่จะดูจากเครดิตบูโร การที่มีประวัติการชำระเงินดี จะช่วยเพิ่มโอกาสการขอสินเชื่อได้ง่ายขึ้น และอาจได้อัตราดอกเบี้ยพิเศษกว่าด้วย
– ต้องพิจารณาเลือกใช้ธนาคารมากว่า 1 แห่ง เพราะแต่ละธนาคารมีนโยบายการปล่อยสินเชื่อและคิดดอกเบี้ยแตกต่างกัน จะทำให้ช่วยเพิ่มโอกาสการกู้ผ่านและได้รับดอกเบี้ยที่เหมาะสม

ทำอย่างไรไม่ให้เป็นหนี้เสียในภาวะวิกฤต

– ทบทวนแผนธุรกิจ โดยประเมินรายได้และรายจ่ายในปัจจุบัน เพื่อดูว่ามีเงินพอชำระหนี้มากน้อยแค่ไหน
– ขอเจรจากับธนาคาร เพื่อขอปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ที่เหมาะกับธุรกิจช่วงวิกฤต
– เปิดเผยข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา จะทำให้ธนาคารสามารถช่วยวางแผนทางการเงินได้อย่างเหมาะสม

แหล่งที่มา : Link

 561
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์