วิกฤตต้มกบ คืออะไร

วิกฤตต้มกบ คืออะไร

วิกฤตต้มกบ คืออะไร  วิกฤตต้มกบ หรือ เศรษฐกิจต้มกบ ถือเป็นแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์การเมือง ที่กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ถือเป็นคำที่ได้รับความนิยมขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คล้ายกับคำว่า วิกฤตฟองสบู่ ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ประมาณช่วง 10 ปีก่อนหน้านี้  

วิกฤตฟองสบู่ และ วิกฤตต้มกบ  วิกฤตต้มกบ เป็นแนวคิดที่ถูกนำเสนอขึ้นมาอธิบายลักษณะทางเศรษฐกิจ โดยมีลักษณะ หรือตัวเปรียบเทียบสำคัญ คือ วิกฤตฟองสบู่ โดยทั้ง 2 วิกฤตต่างก็มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจในขาลงเป็นอย่างมาก เพียงแต่ใช้ในการอธิบายในรูปการณ์ที่ต่างออกไปเฉย ๆ  

วิกฤตฟองสบู่ คือ อะไร  วิกฤตฟองสบู่ คือ สภาวะที่เศรษฐกิจ หรือราคาสินทรัพย์มีการเพิ่มขึ้นอย่างร้อนแรงเกินกว่าพื้นฐานที่จะเป็นได้ หรือศักยภาพที่แท้จริง ส่วนใหญ่มาจากการเก็งกำไร หรือการไหลเข้าของเงินทุนที่มากเกินเหตุ ราคาของสินทรัพย์ หรือสภาวะของเศรษฐกิจที่สูงเกินกว่าศักยภาพที่แท้จริง ไม่สามารถยืนระยะอยู่ในระยะยาวได้ ในวันหนึ่งฟองสบู่ก็แตก ราคาของสินทรัพย์ หรือสภาพของเศรษฐกิจจึงตกต่ำลงอย่างรวดเร็ว สุดท้าย ราคาของสินทรัพย์ที่ลดลงมาก หรือเศรษฐกิจที่ซบเซาลงมากก็กลายเป็นวิกฤตนั่นเอง  

วิกฤตต้มกบ คือ อะไร  วิกฤตต้มกบ คือ สภาวะเศรษฐกิจที่ค่อย ๆ ซบเซาลงอย่างต่อเนื่อง ต่างจากวิกฤตฟองสบู่ที่ราคาเพิ่มสูงขึ้นและลดลงอย่างรวดเร็ว แต่เศรษฐกิจต้มกบจะเป็นลักษณะที่สภาพเศรษฐกิจค่อย ๆ ซบเซาลง เหมือนกบที่ถูกต้มอยู่ในน้ำตั้งแต่น้ำยังไม่เดือด เมื่ออุณหภูมิน้ำเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ กบจึงไม่รู้ตัว ไม่เหมือนกบที่ถูกหย่อนลงในน้ำร้อนตั้งแต่ตอนแรกก็จะกระโดดหนีได้ แต่พออุณหภูมิค่อย ๆ เพิ่มขึ้น กบก็ไม่รู้ตัว และถูกต้มไปในที่สุด  

วิกฤตต้มกบ คือ ตัวแทนของภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ลงในระยะยาว  วิกฤตต้มกบ คือ ตัวแทนของการค่อย ๆ ลดลงของการเติบโตของสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ได้รุนแรง แต่เมื่อมองภาพระยะยาวแล้วน่าเป็นห่วง ยกตัวอย่างเช่น ประเทศหนึ่งมีการเติบโตของเศรษฐกิจในระดับ 10 % ต่อมาค่อย ๆ ลดลงเหลือ 9% , 8% , 7% ลดลงทีละ 1% จนเหลือ 0% ในที่สุด แบบนี้เวลามองในระยะสั้นปีต่อปี เราอาจจะไม่เห็นภาพการลดลงที่รุนแรงมาก เพราะลดลงปีละ 1% (ในทางความเป็นจริง ลดลง 1% ต่อปีก็ถือว่าเยอะมาก) แต่ถ้าเทียบกับวิกฤตฟองสบู่ที่ลดลงจาก 10% กลายเป็นติดลบในปีเดียว เราจะเห็นภาพวิกฤตที่ชัดเจนกว่า  

  ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตไหน การแก้ปัญหาที่สาเหตุคือเรื่องสำคัญ
ในเชิงปฏิบัติ วิกฤตฟองสบู่ดูจะป้องกัน และแก้ไขได้ง่ายกว่าวิกฤตต้มกบ เพราะสาเหตุมักจะมาจากมาตรการที่ผิดปรกติ หรือการเก็งกำไรที่มากเกินควร เช่น การเปิดเสรีการเงิน การตรึงค่าเงินแบบผิดปรกติ ดอกเบี้ยที่ต่ำผิดปรกติ เมื่อทำการปรับนโยบายเพื่อลดความร้อนแรงลง โอกาสที่ฟองสบู่จะแตกก็ลดน้อยลงไปด้วย  

  ต่างจากวิกฤตต้มกบที่มักจะเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง
การที่เศรษฐกิจที่ถดถอยได้อย่างต่อเนื่องและยาวนาน ปัญหามักจะมาจากฐานรากที่แก้ไขได้ไม่ง่ายนัก เช่น การไม่มีนวัตกรรมใหม่ภายในประเทศ กับดักรายได้ปานกลาง โครงสร้างประชากรที่มีผู้สูงอายุมาก แน่นอนว่าปัญหาแบบนี้แก้ยากกว่ามาก วิกฤตต้มกบจึงกลายเป็นประเด็นร้อนแรงที่ใครหลายคนต่างพูดถึงกัน


บทความโดย : ลงทุนศาสตร์ Investerest.co

 3056
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์