ค่าตอบแทนกรรมการบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ กับการหลงลืมเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ?

ค่าตอบแทนกรรมการบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ กับการหลงลืมเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ?

ความจำเป็นในการหาเงินมาใช้หนี้จากนโยบายประชานิยมที่ใช้งบประมาณเป็นเบี้ยหัวแตกต่อเนื่องกันหลายปี ความต้องการเงินมาลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่ชะงักงันมาเนิ่นนาน ในขณะที่รายได้จากการจัดเก็บภาษีต่ำกว่าเป้าหมายอันเนื่องจากปัญหาทางการเมืองและการลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล ปัจจัยเหล่านี้ทำให้รัฐจำต้องปฏิรูปโครงสร้างภาษีอากรอย่างเร่งด่วนเพื่อหารายได้ให้สอดคล้องกับงบประมาณรายจ่าย เท่าที่ติดตามข่าวการปฎิรูปภาษีอากรในขณะนี้เป็นไปในมุมมองมหภาคในระดับโครงสร้าง แต่ในระดับเนื้อหาของบทบัญญัติกฎหมายยังไม่ทราบแน่ว่าจะมีการแก้ไขปรับปรุงหรือไม่อย่างไร โดยใคร ภาคเอกชนจะได้มีส่วนร่วมหรือไม่เพียงใด ซึ่งกฎหมายภาษีอากรของสามกรมจัดเก็บหลักคือกรมสรรพากร กรมศุลกากร กรมสรรพสามิตนั้นมีการปรับปรุงแบบตัดผุซ่อมแซมเฉพาะจุดตลอดมา แต่ยังไม่มีการยกเครื่องแก้ไขครั้งใหญ่แต่อย่างใด ปัญหาเรื่องค่าตอบแทนกรรมการบริษัทกับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นตัวอย่างหนึ่งของปัญหาภาษีอากรที่ควรได้รับการแก้ไขทันที นอกจากปัญหาความเป็นธรรมตามหลักการภาษีที่ดีแล้ว ปัญหาดังกล่าวยังอาจเป็นอุปสรรคต่อการให้บริการส่วนบุคคลของชาวต่างชาติเมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอีกด้วย

 

  1. ค่าตอบแทนกรรมการบริษัท

           ในทางกฎหมายกรรมการเป็นตัวแทนของบริษัทซึ่งเป็นบุคคลสมมุติในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์และภายใต้ข้อบังคับของบริษัท การกำหนดค่าตอบแทนกรรมการบริษัท มีหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ ดังนี้

           - กรรมการบริษัทจำกัด กฎหมายแพ่งและพาณิชย์เรียกค่าตอบแทนว่าบำเหน็จ ต้องได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น โดยคะแนนเสียงข้างมากของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียงลงคะแนน

           - กรรมการบริษัทมหาชนจำกัด ต้องมีอย่างน้อย 5 คน ค่าตอบแทนเป็นไปตามข้อบังคับของบริษัท ในกรณีที่ข้อบังคับไม่ได้กำหนดไว้ ต้องได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นโดยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นที่มาประชุม

           - บริษัทมหาชนจำกัดที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (บริษัทจดทะเบียน”) การกำหนดค่าตอบแทน มีหลักเกณฑ์เช่นเดียวกับบริษัทมหาชนจำกัด แต่มีการกำหนดเพิ่มเติมเรื่องกรรมการอิสระและกรรมการตรวจสอบ (ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535) โดยกรรมการอิสระจะได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการตรวจสอบ และมีการเปิดเผยข้อมูลการจ่ายค่าตอบแทนคณะกรรมการบริษัท ตลอดจนคณะกรรมการตรวจสอบไว้ในรายงานประจำปีตามหลักบริษัทภิบาล

           ในส่วนของการจัดเก็บภาษีเงินได้ ค่าตอบแทนกรรมการได้รับการแยกแสดงเป็นรายการต่างหากในแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) หน้า 5 แสดงให้เห็นว่าเป็นรายการที่กรม สรรพากรให้ความสำคัญในการตรวจสอบภาษีเงินได้เป็นพิเศษทั้งฝ่ายบริษัทผู้จ่ายเงินและกรรมการบริษัทผู้มีเงินได้ สำหรับกรรมการคนใดที่ได้รับค่าตอบแทนเกินกว่าหนึ่งล้านแปดแสนบาทต่อปี ก็มีประเด็นการตรวจสอบภาษี มูลค่าเพิ่มด้วย

           การกำหนดและจ่ายค่าตอบแทนกรรมการตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด จะทำให้ตัดปัญหารายจ่ายที่ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรขาดทุนเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากรได้หลายประการ เช่นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัว การให้โดยเสน่หาตามมาตรา65 ตรี (3), เงินเดือนของผู้ถือหุ้นเฉพาะส่วนที่จ่ายเกินสมควรกรณีกรรมการเป็นผู้ถือหุ้นตามมาตรา 65 ตรี (8) ,รายจ่ายซึ่งกำหนดขึ้นเองโดยไม่มีการจ่ายจริง หรือรายจ่ายซึ่งควรจะได้จ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีอื่น เว้นแต่ในกรณีที่ไม่สามารถจะลงจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีใดก็อาจลงจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีถัดไปได้ตามมาตรา 65 ตรี (9) เป็นต้น

  1. ค่าตอบแทนกรรมการบริษัทกับปัญหาภาษีมูลค่าเพิ่ม

           ในสมัยนายอานันท์ ปันยารชุนเป็นนายกรัฐมนตรีได้ประกาศใช้ภาษีมูลค่าเพิ่มแทนภาษีการค้า มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2535 เป็นต้นมา ภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นภาษีที่จัดเก็บจากฐานการบริโภค กฎหมายกำหนดให้ บุคคลซึ่งขายสินค้าหรือให้บริการในทางธุรกิจหรือวิชาชีพเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องเสียภาษีสำหรับฐานภาษี [1] (รายได้) ส่วนที่เกินกว่าหนึ่งล้านแปดแสนบาทต่อปี  [2] โดยคำว่า “บริการ หมายความว่า การกระทำใด ๆ อันอาจหาประโยชน์อันมีมูลค่าซึ่งมิใช่เป็นการขายสินค้า” การเป็นกรรมการบริษัทก็เป็นการให้บริการในทางธุรกิจหรือวิชาชีพด้วยเช่นกัน

           ตามประมวลรัษฎากร เงินได้จากการจ้างแรงงานเป็นเงินได้ตามมาตรา40 (1) เป็นการให้บริการทางธุรกิจ แต่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1) (ฐ) แห่งประมวลรัษฎากร ส่วนการเป็นกรรมการบริษัทเป็นเงินได้เนื่องจากหน้าที่ หรือตำแหน่งงานที่ทำหรือจากการรับทำงานให้ตามมาตรา 40 (2) แม้จะมีลักษณะการทำงานใกล้เคียงกับการจ้างแรงงาน คือต่างก็เป็นการทำงานด้วยหนึ่งสมองกับสองมือ แต่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนั้นค่าตอบแทนกรรมการรายเดือน ค่าเบี้ยประชุมคณะกรรมการ บำเหน็จ โบนัส ภาษีที่บริษัทออกให้ เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สวัสดิการต่างๆ ที่กรรมการได้รับจากทุกบริษัทรวมกัน เมื่อรวมกับเงินได้ตามมาตรา 40 (2) ถึงมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร (ที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม) ที่ได้รับหากเกินกว่าหนึ่งล้านแปดแสนบาทต่อปี ส่วนที่เกินต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

           สำหรับคนทั่วไปแล้วการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการให้บริการส่วนบุคคลที่ใช้หนึ่งสมองกับสองมือเป็นภาษีที่โดยสามัญสำนึกแล้วไม่สามารถเข้าใจได้ว่าการทำงานดังกล่าวเป็นฐานการบริโภคได้อย่างไร เหตุใดต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แม้ในหมู่นักธุรกิจและกลุ่มคนระดับมันสมองของประเทศ รวมถึงคนที่มีอาชีพเกี่ยวข้องโดยตรงกับบัญชีและภาษีก็ยังไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายในส่วนนี้อย่างถูกต้อง ทั้งภาคเอกชนและกรมสรรพากร ตัวอย่างคือจากรายงานประจำปีของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่มีมาร์เก็ตแคบลำดับต้น ๆ ของตลาดหลักทรัพย์ เช่น เครือซิเมนต์ไทย เครือปตท. เครือซีพี ธนาคาร จะพบว่ากรรมการ กรรมการอิสระซึ่งมิได้เป็นลูกจ้างของบริษัทได้รับค่าตอบแทนเกินกว่าปีละหนึ่งล้านแปดแสนบาท และบางคนที่มีความรู้ความสามารถก็เป็นกรรมการอิสระอยู่หลายบริษัท ทั้งบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ กลุ่มบริษัทในเครือ รวมทั้งบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์

           ส่วนบุคคลากรกรมสรรพากร หรือบรรดาข้าราชการระดับสูงของกระทรวงการคลังโดยเฉพาะที่ไปเป็นกรรมการอิสระของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งกระทรวงการคลังถือหุ้นก็ดี หรือเป็นกรรมการอิสระในบริษัทจดทะเบียนอื่นที่ไม่ใช่รัฐพาณิชย์ก็ดีนั้น ต้องทราบข้อกฎหมายนี้กันเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตามตราบจนปัจจุบันไม่มีการดำเนินการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากค่าตอบแทนกรรมการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ส่วนที่เกินหนึ่งล้านแปดแสนบาทต่อปีแต่อย่างใด

ปัญหาการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากค่าตอบแทนกรรมการ สรุปได้ดังนี้

  1.  ความไม่เสมอภาคในการบังคับจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ในขณะที่ค่าตอบแทนกรรมการบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไม่มีการจัดเก็บภาษีมูลค่เพิ่ม แต่เงินได้จากการให้บริการส่วนบุคคลตามมาตรา 40(2) อื่นๆ เช่น ค่าตอบแทนกรรมการบริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัดนอกตลาดหลักทรัพย์ ค่าที่ปรึกษา ค่านายหน้าประกันชีวิต นายหน้าประกันภัย ฯลฯ ที่มีรายได้เกินมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อม คือเกินหนึ่งล้านแปดแสนบาทต่อปีล้วนถูกจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มมาโดยตลอด
  2.  ระยะเวลาการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีกรรมการไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม(ภ.พ.30) มีกำหนด 10 ปี แต่การขอคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่เสียเกินของกรรมการบริษัทมีระยะเวลาเพียง 3 ปี ย่อมไม่เป็นธรรมต่อกรรมการ (ยกเว้นกรณีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังขยายระยะเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีออกไป)
  3.  ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มการให้บริการส่วนบุคคลจากชาวต่างชาติที่เข้ามาเป็นกรรมการบริษัทหรือทำงานในประเทศไทยเมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน กล่าวคือ ความซ้ำซ้อนในการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีมาตรการขจัดโดยอนุสัญญาภาษีซ้อนระหว่างรัฐผู้ทำความตกลง ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มไม่อยู่ในขอบข่ายของอนุสัญญาภาษีซ้อนและสัญญาประชาคมอาเซียน

 

           ตามความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการให้บริการส่วนบุคคล หากจะบังคับใช้กฎหมายต่อไปก็ควรชี้แจงทำความเข้าใจให้แพร่หลายเพียงพอ จัดเก็บอย่างเสมอภาค ไม่เลือกปฏิบัติ แต่ผู้เขียนเห็นควรยกเว้นการจัดเก็บสำหรับรายได้ (ฐานภาษีมูลค่าเพิ่ม) ที่เกิดจากการทำงานที่ตัวผู้เสียภาษีกระทำด้วยตนเองในลักษณะ หนึ่งสมองกับสองมือ เพราะแม้จะอำนวยรายได้ให้รัฐแต่ซับซ้อนเข้าใจยาก เป็นภาระแก่ผู้เสียภาษีที่เป็นบุคคลธรรมดามากจนเกินไป แม้ผู้ที่ไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีก็ทำผิดกฎหมายไปโดยไม่รู้ตัว

            (ข้อกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับค่าตอบแทนกรรมการและภาษีมูลค่าเพิ่ม แนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ติดตามได้จากภาคผนวกกฎหมาย)

 

ภาคผนวก กฎหมายเกี่ยวกับค่าตอบแทนกรรมการและปัญหาภาษีมูลค่าเพิ่ม

  1. การจ้างแรงงาน ที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม

           ในการทำงานให้บริษัท นิติสัมพันธ์ระหว่างบริษัทกับกรรมการแบ่งออกได้สองประเภทคือ

  1.  เป็นลูกจ้างและเป็นกรรมการของบริษัทด้วย
  2.  เป็นกรรมการฐานะเดียว เช่น กรรมการอิสระของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

           การเป็นลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานทำให้บรรดาเงิน ทรัพย์สิน ประโยชน์ต่างๆ ที่ได้รับจากบริษัทเป็นเงินได้จากการจ้างแรงงานตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร และได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 (1)(ฐ) แห่งประมวลรัษฎากรทั้งสิ้น และเมื่อลูกจ้างมีเงินได้จากการทำหน้าที่กรรมการอีกฐานะหนึ่ง เงินได้เหล่านั้นถือเป็นเงินได้อันเนื่องจากการจ้างแรงงานได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มเช่นกัน ไม่ว่าจะมีจำนวนมากเท่าใด มีตัวอย่างที่กรมสรรพากรมีหนังสือตอบข้อหารือประเด็นดังกล่าวว่า ค่าเบี้ยประชุมคณะกรรมการบริษัทที่ให้เป็นประจำทุกเดือน/ค่าตอบแทนคณะกรรมการกำกับติดตามการปฏิบัติงานที่จ่ายให้พนักงานประจำทุกเดือนเป็นเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน เป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม[3]

           ส่วนกรรมการบริษัทที่มิได้เป็นลูกจ้าง เงินที่ได้รับจากการทำหน้าที่กรรมการเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (2) ซึ่งเมื่อรวมทุกบริษัทและรวมกับเงินได้ตามมาตรา 40 (2) ถึง มาตรา 40 (8) (ที่ไม่ได้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม) ส่วนที่เกินกว่าหนึ่งล้านแปดแสนบาทต่อปีต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

 

  1. สัญญาจ้างแรงงานมีลักษณะอย่างไร

           ลูกจ้างจำเป็นต้องได้รับการขึ้นทะเบียนประกันสังคมด้วยหรือไม่ ?

           การให้บริการตามสัญญาจ้างแรงงานที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มนั้นควรจะหมายถึงลูกจ้างที่มีนิติสัมพันธ์กับบริษัทในลักษณะอย่างไร มีกฎหมายอย่างน้อยสามฉบับที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

           สัญญาจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 “อันว่าจ้างแรงงานนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าลูกจ้างตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่านายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้”

           ลูกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 ลูกจ้างหมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้นายจ้างโดยรับค่าจ้างไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร

           ลูกจ้างตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 5 “ลูกจ้างหมายความว่า ผู้ซึ่งทำงานให้นายจ้างโดยรับค่าจ้าง ไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร แต่ไม่รวมถึงลูกจ้างซึ่งทำงานเกี่ยวกับงานบ้านอันมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย

           การจะพิจารณาว่าเป็นสัญญาจ้างแรงงานหรือไม่นั้น นอกจากนิติสัมพันธ์ฉันท์นายจ้างลูกจ้างตามมาตรา 575 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว ลูกจ้างยังต้องอยู่ในอำนาจบังคับบัญชา ต้องปฎิบัติตามคำสั่ง ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างตามมาตรา 583 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อีกด้วย[4] เมื่อครบองค์ประกอบดังนี้ย่อมเกิดสัญญาจ้างแรงงานขึ้น

           ส่วนกฎหมายประกันสังคมนั้นมีเจตนารมณ์เพื่อสร้างหลักประกันให้แก่ลูกจ้างและบุคคลอื่น[5] โดยการจัดตั้งกองทุนประกันสังคม การขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนตามกฎหมายประกันสังคมให้ลูกจ้างเป็นหน้าที่ของนายจ้างแต่ฝ่ายเดียวที่จะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ซึ่งเกิดภายหลังการเกิดสัญญาจ้างแรงงานแล้ว การขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนจึงมิใช่องค์ประกอบของการเป็นสัญญาจ้างแรงงานแต่อย่างใด

           ตัวอย่าง หนังสือตอบข้อหารือกรมสรรพากร

            สัญญาจ้างผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ ตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานฯ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2543 กำหนดให้สัญญาจ้างดังกล่าว ไม่อยู่ในบังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน เงินได้จากสัญญาจ้างดังกล่าวเป็นสัญญาจ้างแรงงานซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่

           กรมสรรพากรมีหนังสือตอบข้อหารือดังกล่าวว่า สัญญาจ้างบริหารในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัทโดยผู้บริหารมีหน้าที่ความรับผิดชอบและปฏิบัติงานภายใต้ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง หรือมติของคณะกรรมการบริษัท โดยได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเดือน เงินที่ได้รับตามสัญญาจ้างดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร จึงได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1) (ฐ) แห่งประมวลรัษฎากร

            (หนังสือตอบข้อหารือกรมสรรพากร เลขที่หนังสือ กค 0811/พ./7441 ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2546)

 

  1. ฐานภาษีและหน้าที่ของกรรมการในฐานะผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่ม

           กรรมการที่มีเงินได้จากค่าตอบแทนมากกว่าหนึ่งล้านแปดแสนบาทต่อปี ส่วนที่เกินถือเป็นการให้บริการทางธุรกิจหรือวิชาชีพที่มีมูลค่าของฐานภาษีเกินมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อมที่ได้รับยกเว้นภาษี กรรมการจะมีหน้าที่เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มดังต่อไปนี้

  1.  เป็นการให้บริการตามมาตรา 77/1 (10) จึงเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/1 (5)
  2.  มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82
  3.  เมื่อกรรมการได้รับค่าตอบแทนเกินหนึ่งล้านแปดแสนบาทต่อปี กรรมการต้องจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วันตามมาตรา 85/1
  4.  กรณีกรรมการไม่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและไม่ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มภายในกำหนดเวลาให้ถือเป็นภาษีอากรค้าง เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม เบี้ยปรับ และเงินเพิ่ม ตามมาตรา 88 แห่งประมวลรัษฎากร และอธิบดีกรมสรรพากรมีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดเสียภาษีอากรหรือนำส่งภาษีอากรได้ทั่วราชอาณาจักร โดยไม่ต้องขอให้ศาลออกหมายยึดหรือสั่ง
  5.  หากกรรมการไม่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มก็จะไม่สามารถออกใบกำกับภาษีให้แก่บริษัทได้ตามมาตรา 86/13 (ถ้าฝืนออกใบกำกับภาษีมีความผิดตามมาตรา 90/4 (3)
  6.  หากไม่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม กรรมการจะต้องเสียเบี้ยปรับสองเท่าของเงินภาษีที่ต้องเสียในเดือนภาษี ตลอดระยะเวลาที่ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว หรือเป็นเงินหนึ่งพันบาทต่อเดือนภาษีแล้วแต่อย่างใดจะมากกว่าตามมาตรา 89(1)
  7.  หากกรรมการไม่ชำระภาษีให้ครบถ้วนภายในกำหนดเวลาต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนโดยไม่รวมเบี้ยปรับ ตามมาตรา89/1
  8.  กรรมการมิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีหรือแบบนำส่งภาษีภายในกำหนดเวลา ให้เสียเบี้ยปรับอีกสองเท่าของเงินภาษีที่ต้องเสียหรือนำส่งตามมาตรา 89 (2)
  9.  กรรมการไม่ได้จัดทำใบกำกับภาษี และส่งมอบให้แก่บริษัท ให้เสียเบี้ยปรับอีกสองเท่าของจำนวนภาษีตามใบกำกับภาษีตามมาตรา 89 (5)
  10.  กรรมการไม่ได้ทำรายงานตามที่กฎหมายกำหนด ให้เสียเบี้ยปรับอีกสองเท่าของเงินภาษี ซึ่งคำนวณจากฐานภาษีที่มิได้ทำรายงาน หรือมิได้ลงรายการในรายงานให้ถูกต้องตามมาตรา 89(10)

 

โดย วิไล วัชรชัยสิริกุล

       ศักดิ์ชาย ศิริรักษ์

 24557
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์