การวิเคราะห์งบการเงิน (1): งบการเงินและการตัดสินใจลงทุน

การวิเคราะห์งบการเงิน (1): งบการเงินและการตัดสินใจลงทุน

ราคาของหลักทรัพย์ขึ้นอยู่กับปัจจัยทั้งภายในกิจการ เช่น ผลประกอบการของกิจการ และปัจจัยภายนอกกิจการ เช่น เงินลงทุนจากต่างประเทศที่ก่อให้เกิดกระแสคำสั่งซื้อหลักทรัพย์ ที่อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยหรือสภาพการลงทุนในต่างประเทศ ข้อมูลที่ได้จากงบการเงินจึงเป็นเพียงข้อมูลส่วนหนึ่งที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับกิจการเพื่อให้นักลงทุนใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของชุดบทความว่าด้วยเรื่องการวิเคราะห์งบการเงิน ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทของงบการเงินในกระบวนการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุน โดยบทความในส่วนนี้จะนำเสนอกระบวนการเรียงลำดับย้อนหลัง เพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นเหตุผลและความเชื่อมโยงของแต่ละกระบวนการ ตั้งแต่ข้อมูลที่ต้องการไปถึงข้อมูลเข้าที่ใช้ ได้แก่ การตัดสินใจลงทุน พยากรณ์ทางการเงิน การวิเคราะห์งบการเงิน การวิเคราะห์ทางการบัญชี และการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมในการดำเนินงาน

การตัดสินใจลงทุน

นักลงทุนที่ตัดสินใจลงทุนอย่างมีเหตุผลย่อมตัดสินใจลงทุนในหลักทรัพย์ที่ก่อให้เกิดสิ่งตอบแทนไม่ต่ำกว่าเงินลงทุนที่จ่ายไป หากค่าคาดหวังของกระแสเงินสดจากเงินปันผลและรายรับที่คาดว่าจะได้รับจากการขายหลักทรัพย์คิดลดเป็นมูลค่าปัจจุบันด้วยอัตราผลตอบแทนที่นักลงทุนต้องการ (Required rate of return) แล้ว ทำให้มูลค่าที่แท้จริง (Intrinsic value) ของหลักทรัพย์มากกว่าราคาหลักทรัพย์ที่นักลงทุนจ่ายซื้อ นักลงทุนรายนั้นน่าจะตัดสินใจซื้อหลักทรัพย์ มูลค่าที่แท้จริงของหลักทรัพย์ (V0e) จึงแสดงได้ตามตัวแบบเงินปันผลคิดลด (Dividend Discount Model - DDM) ดังนี้

 

 

โดย        E(Dt)       =   ค่าคาดหวังของเงินปันผลที่จะได้รับในงวดที่ t

                   E(TVt)      =   ค่าคาดหวังของรายรับจากการขายหลักทรัพย์ในงวดที่ t

                    Ke           =   อัตราผลตอบแทนที่นักลงทุนต้องการ

 

ตัวอย่างที่ 1 การตัดสินใจลงทุน

นักลงทุนได้รับข้อมูลจากนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ที่คาดว่ากิจการจะจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ลงทุนในช่วง 3 ปีข้างหน้า E(Dt) เป็นเงิน 2 บาท 3 บาท และ 4 บาทตามลำดับ หลังจากปีที่ 3 นักวิเคราะห์หลักทรัพย์คาดว่าการเติบโตของเงินปันผลจะคงที่ที่ระดับ 3% สมมติให้อัตราผลตอบแทนที่นักลงทุนต้องการ Ke เท่ากับ 10% มูลค่าที่แท้จริงของหลักทรัพย์หุ้นสามัญของกิจการคำนวณได้ดังนี้

 

 

โดยมูลค่าของหลักทรัพย์ที่คาดว่าจะขายได้ในปีที่ 3 คำนวณได้โดยสมมติให้ g เท่ากับอัตราการเติบโตของ

เงินปันผล 3% ดังที่แสดงต่อไปนี้

 

หากนักลงทุนที่มีเหตุผลเชื่อมั่นว่ามูลค่าที่แท้จริงเท่ากับ 51.52 บาท จะใช้ข้อมูลดังกล่าวเปรียบเทียบกับราคาตลาด สมมติให้หุ้นสามัญของกิจการนี้เท่ากับ 45 บาท นักลงทุนน่าจะตัดสินใจ “ซื้อ” หุ้นสามัญของบริษัทนั้น เพราะนักลงทุนจะชำระเงินสดซื้อหุ้นสามัญในวันนี้เป็นเงิน 45 บาท โดยมีค่าคาดหวังของกระแสเงินสดที่คิดลดเป็นมูลค่าปัจจุบันแล้วมีจำนวนเงินเท่ากับ 51.52 บาท น่าจะทำให้นักลงทุนได้ผลตอบแทนสูงกว่าอัตราผลตอบแทนที่ต้องการคือ 10% ด้วย

หากนักลงทุนตัดสินใจลงทุนในหุ้นสามัญบนความคาดหวังของเงินปันผลที่จะได้รับเป็นกระแสเงินสด นักลงทุนจะให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ความสามารถในการจ่ายเงินปันผลของกิจการในอนาคต ซึ่งขึ้นอยู่กับความสามารถในการทำกำไรและความสามารถในการก่อให้เกิดกระแสเงินสดในอนาคต ข้อมูลดังกล่าวได้จากการพยากรณ์ทางการเงิน

พยากรณ์ทางการเงิน

การตัดสินใจของนักลงทุนใช้ข้อมูลเกี่ยวกับความคาดหวังของผลประกอบการและกระแสเงินสดที่กิจการจะก่อให้เกิดได้ แต่ข้อมูลดังกล่าวไม่ได้รับการนำเสนอโดยกิจการ ดังนั้นนักลงทุนและนักวิเคราะห์หลักทรัพย์จำเป็นต้องสร้างความคาดหวังดังกล่าวขึ้นเอง โดยตั้งต้นจากข้อมูลในงบการเงินและข้อมูลจากแหล่งอื่นที่เกี่ยวข้อง

งบการเงินให้ข้อมูลเกี่ยวกับฐานะการเงิน ผลประกอบการ และการเปลี่ยนแปลงฐานะการเงิน โดยเฉพาะในส่วนของเงินสดที่เกิดขึ้นแล้วในอดีต จึงเป็นข้อมูลเข้าที่สำคัญแหล่งหนึ่ง ที่จะช่วยเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างความคาดหวังจากแนวโน้มที่นักลงทุนและนักวิเคราะห์หลักทรัพย์สังเกตได้ โดยวิเคราะห์ไปร่วมกับข้อมูลพยากรณ์สภาพการแข่งขันและศักยภาพของธุรกิจ

ข้อมูลพยากรณ์เริ่มต้นจากข้อสมมติที่สำคัญ ได้แก่ อัตราการเติบโตของรายได้จากการขายสินค้าหรือการให้บริการซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของกิจการ พยากรณ์รายได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของแนวโน้มที่ได้จากการวิเคราะห์งบการเงินและการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจที่ได้จากการประเมินข้อมูลที่เกิดขึ้นแล้วจริง

สภาพการแข่งขันในอุตสาหกรรมและกลยุทธ์ที่กิจการใช้ในการแข่งขันจะเป็นข้อมูลที่สำคัญในการพยากรณ์กำไรที่กิจการจะก่อให้เกิดได้ในอนาคต กิจการที่อยู่ในช่วงเติบโตและไม่มีอุปสรรคที่จะทำให้คู่แข่งเข้ามาประกอบกิจการได้จะประสบกับการแข่งขันที่สูงขึ้นที่จะทำให้ความสามารถในการทำกำไรลดลง จนกระทั่งอัตรากำไรเข้าสู่ระดับปกติของอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสมบูรณ์นั่นเอง

ฐานะการเงินของกิจการจะเปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากการดำเนินธุรกิจที่ได้พยากรณ์ไว้ หากประสิทธิภาพในการบริหารทุนหมุนเวียนของกิจการคงที่ สินทรัพย์หมุนเวียนและหนี้สินหมุนเวียนของกิจการจะมียอดที่เปลี่ยนไปตามอัตราการเติบโตของรายได้ ส่วนข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนและการจัดหาเงินเป็นประเด็นที่นักวิเคราะห์ต้องอาศัยข้อมูลเชิงลึกจากกิจการ หรืออาจต้องสร้างข้อสมมติเกี่ยวกับระดับของสินทรัพย์ดำเนินงานที่ต้องใช้เพื่อรองรับระดับการขายที่พยากรณ์ไว้ ข้อมูลเกี่ยวกับผลประกอบการและฐานะการเงินที่พยากรณ์ขึ้นจะเป็นพื้นฐานที่เพียงพอต่อการจัดทำพยากรณ์กระแสเงินสดที่กิจการจะก่อให้เกิดขึ้นได้ต่อไป

 

ดังนั้น ข้อมูลพยากรณ์ที่มีความเที่ยงตรง ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของแนวโน้มที่ได้จากการวิเคราะห์งบการเงิน ประกอบกับความคาดหวังเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจที่จะกล่าวถึงต่อไป

 

 

การวิเคราะห์งบการเงิน

 

การวิเคราะห์งบการเงินโดยใช้ข้อมูลอนุกรมเวลาในช่วงเวลาที่เปรียบเทียบกันได้ จะช่วยให้นักลงทุนเห็นแนวโน้มที่เกิดขึ้น เทคนิคที่ใช้ในการวิเคราะห์งบการเงินที่นิยมใช้ได้แก่ (1) การวิเคราะห์ฐานร่วม (2) การวิเคราะห์อัตราการเปลี่ยนแปลงของยอดดุลในรายการบัญชีตามแนวนอน และ (3) การวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน

 

  1. การวิเคราะห์ฐานร่วม (Common-size analysis) คือ การวิเคราะห์สัดส่วนของแต่ละองค์ประกอบในงบการเงิน การวิเคราะห์ฐานร่วมในงบกำไรขาดทุนจะกำหนดให้ “รายได้รวม” ในส่วนแรกของงบกำไรขาดทุนเท่ากับ 100% และเปรียบเทียบรายการแต่ละรายการในงบกำไรขาดทุนเป็นสัดส่วนต่อรายได้รวมนั้น การวิเคราะห์ดังกล่าวจะช่วยให้นักลงทุนและนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับอัตรากำไรในแต่ละขั้นตอน และทราบว่าค่าใช้จ่ายแต่ละรายการมีสัดส่วนเท่าใดเมื่อเทียบกับรายได้รวม

 

การวิเคราะห์ฐานร่วมในงบแสดงฐานะการเงินจะเปรียบเทียบรายการสินทรัพย์ หนี้สิน และส่วนของเจ้าของแต่ละรายการเป็นสัดส่วนต่อ “สินทรัพย์รวม” การวิเคราะห์ดังกล่าวจะช่วยให้นักลงทุนและนักวิเคราะห์หลักทรัพย์เห็นความสำคัญของแต่ละองค์ประกอบของงบแสดงฐานะการเงิน เพื่อประเมินความสำคัญของแต่ละรายการในการประกอบธุรกิจ และชี้ให้เห็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญในการวิเคราะห์ทางการบัญชีเพื่อประเมินความยืดหยุ่นของการวัดมูลค่าและการรับรู้รายการที่จะทำให้จำนวนเงินในงบการเงินเกิดความแตกต่างในการวิเคราะห์งบการเงินและการเปรียบเทียบระหว่างกิจการ
 

  1. การวิเคราะห์อัตราการเปลี่ยนแปลงของยอดดุลในรายการบัญชีตามแนวนอน (Horizontal Analysis) คือ การวิเคราะห์อัตราการเติบโตของแต่ละรายการในงบการเงินเป็นร้อยละของจำนวนเงินในรอบระยะเวลาบัญชีก่อนหน้า อัตราการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในการวิเคราะห์ศักยภาพในการเติบโตและการก่อให้เกิดกระแสเงินสดในอนาคต ได้แก่ อัตราการเติบโตของรายได้ที่ปรากฏในงบกำไรขาดทุน

 

อัตราการเติบโตของกำไรในแต่ละขั้นตอนที่แตกต่างกันอย่างมีสาระสำคัญ อาจเป็นข้อบ่งชี้ให้นักลงทุนและนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ได้ศึกษารายการนั้นอย่างละเอียด ตัวอย่างเช่น บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ในประเทศสหรัฐอเมริกาแห่งหนึ่งมีอัตราการเติบโตของรายได้ 12% แต่มีอัตราการเติบโตของกำไรจากการดำเนินงานสูงถึง 53% ในรอบระยะเวลาเดียวกัน หากกำไรจากการดำเนินงานมาจากกิจกรรมการดำเนินงานหลักที่น่าจะแปรผันตรงตามรายได้แล้ว กิจการไม่น่าจะก่อให้เกิดกำไรจากการดำเนินงานได้สูงขึ้นมากกว่าอัตราการเติบโตของรายได้ได้มากนัก การศึกษาในรายละเอียดพบว่ากิจการนำกำไรจากการขายหลักทรัพย์ที่น่าจะรายงานเป็นรายได้อื่นมาเป็นส่วนหักในค่าใช้จ่ายในการบริหาร การวิเคราะห์ดังกล่าวอาจเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความผิดปกติในการรับรู้รายการในงบการเงินได้

 

อัตราการเติบโตของรายการสินทรัพย์ หนี้สิน และส่วนของเจ้าของในงบแสดงฐานะการเงิน
อาจชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในองค์ประกอบต่างๆ ที่อาจมีนัยต่อการดำเนินธุรกิจและความเสี่ยงของกิจการได้ เช่น กิจการที่มีการลงทุนในโรงงานเพื่อเพิ่มระดับการผลิตจะแสดงอัตราการเติบโตของรายการที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ ที่อาจสะท้อนให้เห็นศักยภาพในการก่อให้เกิดรายได้สูงขึ้นในอนาคต หรือกิจการมีอัตราการเติบโตของสินค้าคงเหลือที่สูงกว่ารายได้อาจชี้ให้เห็นว่าความสามารถของกิจการในการขายสินค้าลดลง หรือกิจการอาจจัดเก็บสินค้ามากขึ้นเพื่อรองรับการขายที่จะมีปริมาณสูงขึ้นในอนาคต เป็นต้น

 

  1. การวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน (Financial ratio analysis) คือ การหาความสัมพันธ์ระหว่างรายการบัญชีอย่างน้อย 2 รายการ โดยแสดงในรูปอัตราส่วน ที่ช่วยให้นักลงทุนและนักวิเคราะห์หลักทรัพย์สามารถตีความได้ ประเด็นการวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงินได้แก่ (1) ความสามารถในการทำกำไร (2) ประสิทธิภาพในการบริหารสินทรัพย์และสภาพคล่อง (3) อัตราผลตอบแทน และ (4) โครงสร้างทุน ตามที่จะนำเสนอในบทความตอนที่ 2 ถึง 4
     

การวิเคราะห์งบการเงินด้วยเทคนิคต่างๆ ที่นำเสนอไปในส่วนนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลบัญชี ที่มีหลักการในการวัดมูลค่าและการรับรู้รายการตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินที่นักลงทุนและนักวิเคราะห์หลักทรัพย์พึงตระหนัก

 

การวิเคราะห์ทางการบัญชี


ผลการวิเคราะห์งบการเงินจะตีความได้อย่างเหมาะสมก็ต่อเมื่อข้อมูลบัญชีที่ใช้เหมาะสมสำหรับการวิเคราะห์งบการเงิน งบการเงินที่นักลงทุนและนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ได้รับมานั้นผ่านกระบวนการสอบบัญชีมาแล้ว แต่ผู้สอบบัญชีรับรองว่างบการเงินแสดงฐานะการเงิน ผลการดำเนินงาน และการเปลี่ยนแปลงฐานะการเงินอย่าง “ถูกต้องตามควร” ซึ่งมีนัย 3 ประการ ได้แก่
 

  1. ความถูกต้องตามควรนั้นหมายถึงการนำเสนองบการเงินที่เป็นไปตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน แต่ไม่ได้หมายความว่างบการเงินนั้นถูกต้องและเหมาะสมสำหรับการวิเคราะห์งบการเงิน เนื่องจากมาตรฐานการรายงานทางการเงินอาจก่อให้เกิดรายการที่ไม่ได้รับรู้ในงบแสดงฐานะการเงิน เช่น สินทรัพย์และหนี้สินจากสัญญาเช่าดำเนินงาน เป็นต้น 

 

  1. การรับรองความถูกต้องตามควรไม่ได้หมายความว่างบการเงินปราศจากการแต่งงบการเงิน เพราะการสอบบัญชีเป็นการรับรองรายการที่เกิดขึ้นว่าได้วัดมูลค่าและรับรู้รายการตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน หากรายการที่เกิดขึ้นเกิดจากแรงจูงใจในการนำเสนองบการเงินบางลักษณะ เพื่อให้กลุ่มบุคคลบางกลุ่มได้ประโยชน์แล้ว งบการเงินอาจไม่ได้สะท้อนสภาพเชิงเศรษฐกิจอย่างแท้จริง หรืออาจไม่สามารถเปรียบเทียบได้ระหว่างรอบระยะเวลาหรือระหว่างกิจการ และ

  1. ผู้สอบบัญชีไม่ได้รับรองว่างบการเงินถูกต้องสมบูรณ์เพราะผู้สอบบัญชีไม่ได้ตรวจรายการบัญชีทุกรายการ

 

การวิเคราะห์ทางการบัญชีเพื่อศึกษาผลของนโยบายและประมาณการทางการบัญชีที่มีต่อการรายงานทางการเงิน เพื่อการวิเคราะห์และเพื่อการเปรียบเทียบระหว่างรอบระยะเวลาหรือการเปรียบเทียบระหว่างกิจการจึงมีความสำคัญ งบการเงินที่ใช้เป็นข้อมูลเข้าเพื่อการวิเคราะห์และเพื่อการพยากรณ์ที่มีความบิดเบือนน้อยที่สุด น่าจะทำให้ผลการวิเคราะห์สะท้อนสภาพเชิงเศรษฐกิจได้ดีขึ้นและทำให้การตัดสินใจเชิงเศรษฐกิจดีขึ้นตามไปด้วย

 

 

การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมในการดำเนินงาน

การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมในการดำเนินงานจะพิจารณาปัจจัยในระดับมหภาค ลงมาสู่การแข่งขันในระดับอุตสาหกรรม และในระดับธุรกิจ ที่เป็นไปตามวิธีที่เรียกว่า Top-down approach) นักลงทุนควรมีความเข้าใจลักษณะการดำเนินงานของธุรกิจและอุตสาหกรรม เพื่อประเมินว่าธุรกิจและอุตสาหกรรมที่วิเคราะห์อยู่นั้นมีความอ่อนไหวต่อปัจจัยใดในระบบเศรษฐกิจ เช่น อัตราการเติบโตของระบบเศรษฐกิจ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ อัตราดอกเบี้ย อัตราเงินเฟ้อ อัตราการว่างงาน เป็นต้น รวมถึงปัจจัยอื่นในสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจโดยตรง เช่น การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี สังคม วัฒนธรรม กฎหมาย การเมือง ประชากร และอื่นๆ

บทวิเคราะห์ที่ดีน่าจะอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่พบในการวิเคราะห์ทางการเงิน โดยบูรณาการเข้ากับบทวิเคราะห์สภาพแวดล้อม เพื่อให้เห็นความเชื่อมโยงดังกล่าวและอาศัยความสัมพันธ์นั้นในการสร้างความคาดหวังต่อไปในอนาคต หน่วยงานรัฐและเอกชนดำเนินการศึกษาและพยากรณ์ปัจจัยเชิงเศรษฐกิจและเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวที่จะช่วยให้นักลงทุนและนักวิเคราะห์สามารถอ้างอิงได้ โดยใช้วิจารณญาณของตัวเองอย่างเหมาะสม

ข้อมูลดังกล่าวรวมกับบทวิเคราะห์ที่นักลงทุนและนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ได้จากการศึกษาจะช่วยในการสร้างข้อสมมติในการพยากรณ์ทางการเงิน พยากรณ์ที่ดีขึ้นอยู่กับคุณภาพของการวิเคราะห์ในส่วนนี้ รูปที่ 1 สรุปกระบวนการในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจลงทุน

 

 

รูปที่ 1 กระบวนการตัดสินใจลงทุน

 

 

สรุป 

การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานเพื่อการประเมินมูลค่าหลักทรัพย์ต้องอาศัยข้อมูลจากหลายแหล่ง ทั้งข้อมูลเกี่ยวกับกิจการ และข้อมูลเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจและอุตสาหกรรม งบการเงินเป็นเพียงข้อมูลส่วนหนึ่งที่แสดงฐานะการเงินและผลประกอบการของกิจการในช่วงเวลาในอดีตจนถึงปัจจุบัน แต่การตัดสินใจลงทุนขึ้นอยู่กับความสามารถในการจ่ายเงินปันผลในอนาคต ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากความสามารถในการก่อให้เกิดกำไรและกระแสเงินสด รวมถึงนโยบายทางการเงินของกิจการ

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิศรุต ศรีบุญนาค
อาจารย์ประจำภาควิชาการบัญชี
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี 
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 6539
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์