ภาษีการขายสินค้าออนไลน์

ภาษีการขายสินค้าออนไลน์

ภาษีการขายสินค้าออนไลน์

 

การขายสินค้าออนไลน์ อาจทำเป็นงานอดิเรก โดยนำของเก็บของสะสมมาขายให้แก่คนรู้จักหรือเพื่อนฝูง กรณีนี้ เงินได้ที่ได้รับก็จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพราะเป็นการขายสังหาทรัพย์ที่ได้มาโดยมิได้มุ่งในทางค้าหรือหากำไร หรือขยับขึ้นมาทำเป็นอาชีพเสริมจากรายได้ประจำ หรือเสริมร้านค้าที่มีอยู่แล้ว ซึ่งมีประเด็นทางภาษีอากรที่ต้องสัมผัสสัมพันธ์ และต้องทำความเข้าใจ ประเด็นสำคัญของการขายสินค้าออนไลน์ คือ ต้องมีคอมพิวเตอร์ และโปรแกรมขายสินค้าออนไลน์
ซึ่งในปัจจุบันมีการพัฒนาโดยผู้ให้บริการทางอินเทอร์เน็ตเป็นอันมาก จาก social media ไม่ว่าจะเป็น facebook หรือ google หรือ line ซึ่งอาจเป็นการขายแบบเล่นๆ ไม่จริงจัง หรือจะพัฒนาเว็บไซต์ของตนเองเพื่อขายสินค้าออนไลน์ให้เป็นกิจลักษณะ แบบเอาจริงเอาจังก็ได้ 


การขายสินค้าออนไลน์ที่นิยมอีกกรณีหนึ่ง คือ Dropship ได้แก่ การเป็นตัวกลาง นำสินค้าของคนอื่น อาทิ โรงงานผู้ผลิตมาขาย โดยเราสามารถบวกกำไรเข้าไปอยู่ในสินค้านั้น ๆ โดยที่เราไม่จำเป็นต้องส่งสินค้าหรือประกันสินค้าใด ๆ เข้าลักษณะเป็นการซื้อมาขายไป โดยมีขั้นตอนของการ Dropship มีดังนี้


1.หาสินค้าหรือหาผู้ให้บริการ Dropship 
2. เสนอตัวเป็นตัวแทนการขายหรือเอเยนต์ และทำการ copy รูปภาพและรายละเอียดสินค้า โดยอาจจะเปิดเว็บไซต์หรือโฆษณาผ่านช่องทางการตลาดต่าง ๆ เพื่อทำการขายสินค้านั้น ๆ
3.เมื่อขายได้ ให้ลูกค้าโอนเงินมาที่เรา และเราจะโอนเงินไปให้เจ้าของโรงงานเพื่อส่งของให้ลูกค้าของเรา โดยเราไม่จำเป็นต้องประกันสินค้าด้วยตนเองและไม่เสี่ยงที่จะเสียลูกค้าหากเราเจอ Dropship มืออาชีพ
4. พยายามอัพเดตสินค้าใหม่ ๆ เพื่อให้มีความหลากหลายมากขึ้น เนื่องจากจุดเด่นของ Dropship คือความหลากหลายของสินค้าที่จะสามารถขายได้



ข้อดีของการขายสินค้าออนไลน์ คือ 

 

1. ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายหรืองบประมาณในการเปิดร้านค้า
2. สามารถเพิ่มสินค้าเข้าไปในร้านค้าออนไลน์เมื่อใดก็ได้ หรือจะกี่ชิ้นก็ได้
3. เข้าถึงลูกค้าได้รวดเร็ว ด้วยวิธีการทางการตลาดออนไลน์ 
4. ช่วยลดความเสี่ยงในการขายของได้
5. ไม่ต้องกังวลกับการนับเงินทอน


ใช่จะมีแต่ข้อดี การขายสินค้าออนไลน์ก็มีข้อเสียอยู่บ้าง อาทิ ไม่อาจเข้าถึงกลุ่ม baby bloomer ยุคหลังสงครามที่ไม่เอาเทคโนโลยี หรือไม่เล่นอินเทอร์เน็ต ต้องหมั่นอัพเดตข้อมูลสินค้าบนเว็บไซต์ร้านค้าออนไลน์อย่างสม่ำเสมอ หรือทิ้งร้าง เพราะนอกจากมีคู่แข่งขันแล้ว ความน่าเชื่อถือของเว็บไซต์ก็เป็นสิ่งจำเป็น เพราะหากไม่ใช่เว็บไซต์บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ก็จะต้องไปจดทะเบียนอิเล็กทรอนิคการขาย นอกจากนี้จะต้องใช้เวลาในการสร้างความน่าเชื่อถือ ความไว้วางใจจากกลุ่มลูกค้า และมีคู่แข่งขันมากเมื่อมีรายได้จากการขายสินค้าออนไลน์ ทั้งนี้ เฉพาะผู้ขายที่ฐานะเป็นบุคคลธรรมดา
เราหันมาดูประเด็นทางภาษีอากรที่เกี่ยวข้อง  เริ่มจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา รายได้จากการขายสินค้าออนไลน์ โดยทั่วไปเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร หรือรายได้จากการซื้อมาขายไป ที่ตนเองไม่ได้เป็นผู้ผลิต 

นับแต่ปีภาษี พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป กรมสรรพากรกำหนดอัตราค่าใช้จ่ายเป็นการเหมา ลดลงจากร้อยละ 80 ของเงินได้คงเหลือร้อยละ 60 ของเงินได้ ซึ่งเป็นกรณีที่ผู้ขายสินค้าออนไลน์ไม่อาจที่จะเลือกหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาตามอัตราที่กรมสรรพากรกำหนดขึ้นใหม่ได้เลย เพราะต่ำกว่าความเป็นจริงมาก จึงเหลือวิธีเดียวคือ เลือกหักค่าใข้จ่ายจริงตามหลักฐานการซื้อขายสินค้า ซึ่งผู้ขายมีหน้าที่ต้องจัดทำบัญชีเงินสดรับ – จ่าย เป็นรายวัน ตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด 


ในการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของผู้ขายสินค้าออนไลน์ ให้คำนวณหักค่าลดหย่อนตามมาตรา 47 แห่งประมวลรัษฎากร อาทิ 


- ค่าลดหย่อนส่วนตัวผู้มีเงินได้ 60,000 บาท
- ค่าลดหย่อน คู่สมรส 60,000 บาท และ
- ค่าลดหย่อนบุตร คนละ 30,000 บาท   
- ค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท 
- ค่าลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัยตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
- ค่าลดหย่อนอื่น 


คงเหลือเป็นเงินได้สุทธิเท่าใด ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ในส่วนที่ไม่เกิน 150,000 บาท แล้วคำนวณภาษีเงินได้ตามอัตราก้าวหน้า 
กรณีมีเงินได้จากการขายสินค้าออนไลน์เกินกว่า 1 ล้านบาทต่อปีภาษี ต้องคำนวณภาษีเงินได้จากเงินได้พึงประเมินในอัตราร้อยละ 0.5 แล้วเปรียบเทียบกับจำนวนภาษีเงินได้จากเงินได้สุทธิ
จำนวนใดมากกว่าให้เสียตามวิธีนั้น ผู้มีเงินได้จากการขายออนไลน์ มีหน้าที่ยื่นรายการและชำระภาษี เงินได้บุคคลธรรมดาปีละ 2 ครั้ง ดังนี้


ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี ตามแบบ ภ.ง.ด.94 โดยให้นำเงินได้ที่ได้รับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายนไป ยื่นรายการและชำระภาษีภายในเดือนกันยายนของทุกปีภาษี 


ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี ตามแบบ ภ.ง.ด.90 โดยให้นำเงินได้ ที่ได้รับตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเดือนธันวาคม ไปยื่นรายการและชำระภาษีภายใน เดือนมีนาคมของปีถัดไป โดยใช้ ทั้งนี้ ให้นำภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีที่ชำระไว้ตามแบบ ภ.ง.ด.94 มาถือเป็นเครดิตภาษีในการคำนวณภาษี


ประเด็นภาษีมูลค่าเพิ่ม การขายสินค้าออนไลน์ เข้าลักษณะเป็นการขายสินค้าในทางธุรกิจหรือวิชาชีพ จึงอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 (1) แห่งประมวลรัษฎากร โดยต้องนำรายได้ ซึ่งเป็นค่าตอบแทนที่ได้รับมารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษีเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อมีการส่งมอบสินค้าให้แก่ลูกค้า เว้นแต่จะได้รับชำระราคาก่อนการส่งมอบสินค้า ดังนี้


กรณีผู้ขายสินค้าออนไลน์มีรายได้ไม่เกิน 1,800,000 บาทต่อปี ย่อมได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81/1 แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่หากมีความประสงค์จะเสียภาษีมูลค่าเพิ่มก็ให้กระทำได้โดยให้แจ้งต่ออธิบดีกรมสรรพากรเพื่อขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้แจ้งต่ออธิบดีกรมสรรพากร  


กรณีผู้ขายสินค้าออนไลน์มีรายได้เกิน 1,800,000 บาทต่อปี จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีรายรับเกิน 1,800,000 บาทต่อปี ตามมาตรา 85/1 (1) แห่งประมวลรัษฎากร โดยเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามอัตราร้อยละ 7 ของมูลค่าฐานภาษี โดยคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มจากยอดภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อในแต่ละเดือนภาษี


ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่มีรายได้จากการขายสินค้าออนไลน์มีหน้าที่ต้องยื่นแบบ ภ.พ.30 เพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นรายเดือนภาษี ไม่ว่าจะมีรายได้จากการประกอบกิจการหรือไม่ก็ตาม 

บทความโดย : คุณสุเทพ พงษ์พิทักษ์ อดีตสรรพากรภาค 4 กรมสรรพากร

 1380
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์