หลักการจัดเก็บภาษีศุลกากร

หลักการจัดเก็บภาษีศุลกากร

       การทำธุรกิจ ไม่ว่าจะส่วนตัว กลุ่มบริษัท กลุ่มสหกรณ์ SMEs หรือ OTOP เป็นอันว่า ชีวิตต้องพัวพัน กับภาษีอย่างแน่นอน ดังนั้น ลองหันมาตั้งหลัก " ทำความเข้าใจ " เรื่องภาษีให้ถ่องแท้ เพื่อการจ่ายภาษีอย่างถูกต้อง

ภาษีศุลกากร

       คือ ภาษีที่เรียกเก็บจากการนำสินค้าเข้าจากต่างประเทศ หรือส่งสินค้าออกไปนอกราชอาณาจักร ในกรณีนำเข้าเรียกว่า "อากรขาเข้า" และในกรณีส่งออกเรียกว่า "อากรขาออก" โดยจะจัดเก็บตามราคาหรือร้อยละของมูลค่าสินค้า และจัดเก็บตามสภาพของสินค้า ตามปริมาณ น้ำหนัก ความยาว หรือปริมาตร เป็นต้น

       ปัจจุบันประเทศไทยมีสินค้าที่จะต้อง "ชำระอากรขาออก" เพียง 2 ประเภทเท่านั้น คือ ไม้ และหนังโค-กระบือ นอกนั้นอัตราอากรเป็น 0% ทั้งหมด ส่วน "อากรขาเข้า" จัดเก็บตามพิกัดอัตราศุลกากร ซึ่งกรมศุลกากรได้นำระบบฮาร์โมไนซ์มาใช้ในการจัดหมวดหมู่ของสินค้า โดยแบ่งย่อยเป็นหมวด ตอน ประเภท และประเภทย่อย คือแบ่งเป็น 21 หมวด 91 ตอน แต่ละตอนจะประกอบด้วยประเภทและประเภทย่อยแตกต่างกัน ซึ่งการระบุสินค้าตามระบบฮาร์โมไนซ์จะกำหนดเป็นเลข 10 หลัก โดยที่ 7 หลักแรกจะเป็นเลขที่กำหนดโดยองค์การการค้าโลก ส่วนเลข 3 หลักหลัง เป็นรหัสสถิติที่กำหนดโดยแต่ละประเทศ

       เมื่อจะนำสินค้าใดเข้าหรือส่งสินค้าใดออก คุณต้องตรวจสอบให้ถูกต้องชัดเจนก่อนว่าสินค้านั้นๆ จัดอยู่ในพิกัดใด อัตราอากรเท่าใด เพื่อที่จะนำไปคิดคำนวณภาษีอากรที่คุณต้องจ่ายนั่นเอง อีกทั้งคุณต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ ขั้นตอนตามกฎหมายศุลกากร และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าส่งออกให้ครบถ้วน ดังนี้

1. ลงทะเบียนเป็นผู้นำเข้า-ส่งออกผู้ผ่านพิธีการศุลกากร

       ผู้ประกอบการนำเข้าหรือส่งออกจะต้องไปแสดงตนขอลงทะเบียนเป็นผู้นำเข้า-ส่งออกผู้ผ่านพิธีการศุลกากร สียก่อน ซึ่งจะเป็นการลงทะเบียนทางอิเล็กทรอนิกส์แบบไร้เอกสาร ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ เพราะระบบจะจดจำว่าคุณได้ขอเป็นผู้นำเข้า-ส่งออกแล้ว หลังจากนั้นไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ใด ขอเพียงมีคอมพิวเตอร์ก็สามารถขออนุญาตนำเข้า-ส่งออกสินค้าได้

  • ดูแบบคำขอลงทะเบียนผู้ผ่านพิธีการศุลกากรทางอิเล็กทรอนิกส์แบบไร้เอกสาร ประเภทบุคคลธรรมดา คลิก
  • ดูแบบคำขอลงทะเบียนผู้ผ่านพิธีการศุลกากรทางอิเล็กทรอนิกส์แบบไร้เอกสาร ประเภทนิติบุคคล คลิก

       1.1 กรณีการขออนุญาตเป็นตัวแทนออกของ คือนิติบุคคลที่ทำหน้าที่ในการเป็นผู้ติดต่อกับกรมศุลกากรแทนผู้ประกอบการนำเข้าหรือส่งออก หรือเป็นนายหน้าในการจัดการผ่านพิธีการศุลกากรนั่นเอง

2. พิธีการศุลกากรนำเข้าและส่งออก

       การจะนำเข้าหรือส่งออกสินค้าใดๆ ก็ตาม ผู้นำเข้าส่งออก (หรือตัวแทนออกของ) จะต้องทำพิธีการศุลกากรนำเข้าและส่งออกด้วย ซึ่งช่องทางสำหรับการนำเข้าหรือส่งออกสินค้า ได้แก่ ทางบก ทางเรือ ทางอากาศ และทางไปรษณีย์

ทั้งนี้ การจัดเตรียมเอกสารและปฏิบัติตามขั้นตอนพิธีการศุลกากรในการนำเข้าสินค้า มีดังนี้

       2.1 พิธีการนำเข้า

ประเภทใบขนสินค้าขาเข้า

       เป็นแบบพิมพ์ที่กรมศุลกากรกำหนดให้ผู้นำเข้าต้องยื่นต่อกรมศุลกากรในการนำเข้าสินค้า ซึ่งจำแนกออกเป็น 9 ประเภท ตามลักษณะการนำเข้า

(1) แบบ กศก. 99/1 ใบขนสินค้าขาเข้า พร้อมแบบแสดงรายการภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่ม ใช้สำหรับการนำเข้าสินค้าทั่วไปทุกประเภทที่กรมศุลกากรไม่ได้กำหนดให้ใช้ใบขนสินค้าประเภทอื่น

(2) แบบ กศก. 102 ใบขนสินค้าขาเข้าพิเศษ พร้อมแบบแสดงรายการภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่ม ใช้สำหรับการนำเข้าสินค้าทางอากาศยานหรือพิธีการอื่นที่กรมศุลกากรกำหนด สำหรับของที่นำเข้าในลักษณะเฉพาะ เช่น การนำเข้าสัตว์เลี้ยงมีชีวิต เป็นต้น

(3) แบบ กศก. 103 คำร้องขอผ่อนผันรับของ/ส่งของออกไปก่อน ใช้สำหรับการนำเข้าหรือส่งออกสินค้าก่อนปฏิบัติพิธีการครบถ้วนตามที่กรมศุลกากรกำหนด

(4) แบบ A.T.A. Carnet ใบขนสินค้าสำหรับนำของเข้าหรือส่งของออกชั่วคราว ใช้สำหรับการนำเข้าหรือส่งออกสินค้าชั่วคราวประเภทต่างๆ ตามที่ระบุในอนุสัญญา

(5) แบบ JDA (Joint Development Area) ใบขนสินค้าสำหรับพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย ใช้สำหรับการนำเข้าสินค้าในเขตพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย

(6) แบบใบแนบ 9 ใบขนสินค้าถ่ายลำ ใช้สำหรับพิธีการสินค้าถ่ายลำ

(7) แบบที่ 448 ใบขนสินค้าผ่านแดน ใช้สำหรับพิธีการสินค้าผ่านแดน

(8) ใบขนสินค้าพิเศษสำหรับรถยนต์และจักรยานยนต์นำเข้าหรือส่งออกชั่วคราว ใช้สำหรับการนำรถยนต์และจักรยานยนต์เข้ามาในประเทศหรือส่งออกชั่วคราว

(9) ใบขนสินค้าพิเศษสำหรับเรือสำราญและกีฬาที่นำเข้าหรือส่งออกชั่วคราว ใช้สำหรับการนำเรือสำราญและกีฬาเข้ามาในประเทศหรือส่งออกชั่วคราว

เอกสารที่ควรจัดเตรียมในการนำเข้าสินค้า

  • สำหรับพิธีการชำระอากร พิธีการวางประกัน พิธีการขนถ่ายข้างลำ พิธีการคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทร้านค้าปลอดอากร ต้องมีเอกสารประกอบ ได้แก่
    1. ต้นฉบับใบขนสินค้าขาเข้า (กศก. 99/1) พร้อมสำเนา 1 ฉบับ เว้นแต่กรณีที่กรมศุลกากรกำหนดให้มีการจัดทำคู่ฉบับเพิ่ม เช่น สำหรับการนำเข้าอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด การนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ต้องส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมัน กรณีดังกล่าวต้องมีสำเนาใบขนสินค้าขาเข้า 2 ฉบับ
    2. ใบตราส่งสินค้า (Bill of Lading or Air Waybill)
    3. บัญชีราคาสินค้า (Invoice)
    4. แบบธุรกิจต่างประเทศ (ธ.ต.2) (Foreign Transaction Form) กรณีมูลค่าของนำเข้าเกินกว่า 500,000 บาท
    5. แบบแสดงรายละเอียดราคาศุลกากร (กศก. 170)
    6. ใบสั่งปล่อยสินค้า (กศก.100/1)
    7. บัญชีรายละเอียดบรรจุหีบห่อ (Packing List)
    8. ใบแจ้งยอดเบี้ยประกัน (Insurance Premium Invoice)
    9. ใบอนุญาตหรือหนังสืออนุญาตสำหรับสินค้าควบคุมการนำเข้า
    10. ใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin) กรณีขอลดอัตราอากร
    11. เอกสารอื่นๆ เช่น เอกสารแสดงส่วนผสม คุณลักษณะและการใช้งานของสินค้า แค็ตตาล็อก เป็นต้น
  • พิธีการหลายเที่ยวเรือ ต้องเพิ่มพิมพ์เขียว (BLUE PRINT) แบบแปลน แบบพิมพ์ หรือเอกสารประกอบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาให้ทำใบขนสินค้าหลายเที่ยวเรือ
  • พิธีการขอคืนอากรตามมาตรา 19 ทวิ ต้องเพิ่มสำเนาใบขนสินค้าขาเข้า (กศก.99/1) อีก 1 ฉบับ
  • พิธีการส่งเสริมการลงทุนต้องเพิ่มหนังสืออนุมัติให้ยกเว้นหรือลดหย่อนอากรจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
  • พิธีการคลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไป ต้องเพิ่มเอกสาร ดังนี้
    1. คำขออนุญาตนำของเข้าคลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไป (แบบที่ 369)
    2. คำขออนุญาตนำของเข้าคลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไป ตามแบบที่กรมศุลกากรกำหนด
  • พิธีการคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทโรงผลิตสินค้า กรณีนำเข้าโดยผู้อื่นที่ไม่ใช่ผู้รับอนุญาตจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทโรงผลิตสินค้า ต้องเพิ่มคำขออนุญาตนำของเข้าคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทโรงผลิตสินค้า
  • พิธีการสินค้าส่งกลับ (RE-EXPORT) กรณีอยู่ในอารักขาของศุลกากร ต้องเพิ่มเอกสารดังนี้ คือ
    1. คำร้องขอผ่อนผันทำใบขนสินค้าส่งกลับ (RE-EXPORT) ชำระอากร 1 ใน 10
    2. ใบขนสินค้าขาออก (กศก.101/1) พร้อมเอกสารประกอบ
  • พิธีการนำของออกจากเขตอุตสาหกรรมส่งออก (EPZ) ต้องเพิ่มเอกสารดังนี้
    1. แบบ กนอ.02-1 กรณีสินค้านำเข้าเป็นวัตถุดิบ
    2. แบบ กนอ.02-1 และ กนอ.101 กรณีสินค้านำเข้าเป็นเครื่องจักร อุปกรณ์เครื่องมือและเครื่องใช้ รวมทั้งส่วนประกอบของสินค้าดังกล่าวที่จำเป็นต้องใช้ในการผลิตสินค้าหรือการค้าเพื่อส่งออก
ขั้นตอนการปฏิบัติพิธีการนำเข้าสินค้า

       1. ผู้นำเข้าหรือตัวแทนบันทึกข้อมูลบัญชีราคาสินค้า (Invoice) ทุกรายการเข้าสู่เครื่องคอมพิวเตอร์ของตนเองหรือผ่าน Service Counter โดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์จะแปลงข้อมูลบัญชีราคาสินค้าให้เป็นข้อมูลใบขนสินค้าโดยอัตโนมัติ และให้ผู้นำเข้าหรือตัวแทนส่งเฉพาะข้อมูลใบขนสินค้ามายังเครื่องคอมพิวเตอร์ของกรมศุลกากร

       2. เครื่องคอมพิวเตอร์ของกรมศุลกากรจะตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นในใบขนสินค้าที่ส่งเข้ามา เช่น ชื่อและที่อยู่ผู้นำของเข้า เลขประจำตัวผู้เสียภาษี พิกัดอัตราศุลกากร ราคา เป็นต้น ถ้าพบว่าข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้าที่ส่งมาไม่ถูกต้อง เครื่องคอมพิวเตอร์ของกรมศุลกากรจะแจ้งกลับไปยังผู้นำเข้าหรือตัวแทนเพื่อให้แก้ไขให้ถูกต้อง

       3. เมื่อเครื่องคอมพิวเตอร์ของกรมศุลกากรตรวจสอบข้อมูลในใบขนสินค้าที่ส่งมาถูกต้องครบถ้วนแล้ว จะออกเลขที่ใบขนสินค้าขาเข้า พร้อมกับตรวจสอบเงื่อนไขต่างๆ ที่กรมศุลกากรกำหนดไว้ เพื่อจัดกลุ่มใบขนสินค้าขาเข้าในขั้นตอนการตรวจสอบพิธีการเป็น 2 ประเภท ดังต่อไปนี้ แล้วแจ้งกลับไปยังผู้นำเข้าหรือตัวแทน เพื่อจัดพิมพ์ใบขนสินค้า ใบขนสินค้าขาเข้าที่ไม่ต้องตรวจสอบพิธีการ (Green Line) สำหรับใบขนสินค้าประเภทนี้ เครื่องคอมพิวเตอร์จะสั่งการตรวจ หลังจากนั้น ผู้นำเข้าหรือตัวแทนสามารถนำใบขนสินค้าขาเข้าไปชำระค่าภาษีอากรและรับการตรวจปล่อยสินค้าได้ ใบขนสินค้าขาเข้าที่ต้องตรวจสอบพิธีการ (Red Line) สำหรับใบขนสินค้าประเภทนี้ ผู้นำเข้าหรือตัวแทนต้องนำใบขนสินค้าไปติดต่อกับหน่วยงานประเมินอากรของท่าที่นำของเข้า

       4. ผู้นำเข้าหรือตัวแทนต้องจัดเก็บข้อมูลบัญชีราคาสินค้าตามวรรคแรกในรูปของสื่อคอมพิวเตอร์เป็นเวลา ไม่น้อยกว่า 6 เดือน เพื่อใช้สำหรับการตรวจสอบใบขนสินค้าหลังการตรวจปล่อย โดยให้สามารถจัดพิมพ์เป็นรายงานเมื่อกรมศุลกากรร้องขอ ดังนี้

             4.1 IMPORT/EXPORT INVOICE LIST BY DECLARATION ITEM

             4.2 IMPORT/EXPORT INVOICE LIST BY INVOICE ITEM

             4.3 IMPORT/EXPORT INVOICE LIST

       2.2 พิธีการส่งออก

       ในการส่งออกสินค้า ผู้ส่งออกต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ และประกาศที่กรมศุลกากรและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกกำหนดไว้ให้ครบถ้วน เช่นเดียวกับการนำเข้า

ประเภทใบขนสินค้าขาออก

       เป็นแบบพิมพ์ที่กรมศุลกากรกำหนดให้ผู้ส่งออกต้องยื่นต่อกรมศุลกากรในการส่งออกสินค้า ซึ่งจำแนกออกเป็น 4 ประเภท ตามลักษณะการส่งออก ดังนี้

1. แบบ กศก.101/1 ใบขนสินค้าขาออก ใช้สำหรับการส่งออกในกรณี ดังต่อไปนี้

  • การส่งออกสินค้าทั่วไป
  • การส่งออกของส่วนบุคคลและเอกสิทธิ์
  • การส่งออกสินค้าประเภทส่งเสริมการลงทุน (BOI)
  • การส่งออกสินค้าจากคลังสินค้าทัณฑ์บน
  • การส่งออกสินค้าที่ขอชดเชยค่าภาษีอากร
  • การส่งออกสินค้าที่ขอคืนอากรตามมาตรา 19 ทวิ
  • การส่งออกสินค้าที่ต้องการใบสุทธินำกลับ
  • การส่งสินค้ากลับออกไป (RE-EXPORT)

2. แบบ กศก.103 คำร้องขอผ่อนผันรับของ/ส่งของออกไปก่อน ใช้สำหรับการขอส่งสินค้าออกไปก่อนปฏิบัติพิธีการใบขนสินค้าขาออกในลักษณะที่กรมศุลกากรกำหนดไว้ในประมวลระเบียบปฏิบัติศุลกากร พ.ศ.2544

3. แบบ A.T.A. Carnet ใบขนสินค้าสำหรับนำของเข้าหรือส่งของออกชั่วคราว ใช้สำหรับพิธีการส่งของออกชั่วคราวในลักษณะที่กำหนดในอนุสัญญา

4. ใบขนสินค้าพิเศษสำหรับรถยนต์และจักรยานยนต์นำเข้าหรือส่งออกชั่วคราว ใช้สำหรับการส่งออกรถยนต์และจักรยานยนต์ชั่วคราว

เอกสารที่ผู้ส่งออกควรจัดเตรียมในการส่งออกสินค้า

  1. ใบขนสินค้าขาออก ประกอบด้วยต้นฉบับและสำเนา 1 ฉบับ
  2. บัญชีราคาสินค้า (Invoice) 2 ฉบับ
  3. แบบธุรกิจต่างประเทศ (Foreign Transaction Form): ธต.1 จำนวน 2 ฉบับ กรณีสินค้าส่งออกมีราคา FOB เกิน 500,000 บาท
  4. ใบอนุญาตส่งออกหรือเอกสารอื่นใดสำหรับสินค้าควบคุมการส่งออก
  5. เอกสารอื่นๆ (ถ้ามี)
ขั้นตอนการปฏิบัติพิธีการส่งออกสินค้า
  1. ผู้ส่งออกหรือตัวแทนส่งข้อมูลใบขนสินค้าขาออกและบัญชีราคาสินค้า (Invoice) ทุกรายการจากเครื่องคอมพิวเตอร์ของผู้ส่งออกหรือตัวแทนมายังเครื่องคอมพิวเตอร์ของกรมศุลกากร โดยผ่านบริษัทผู้ให้บริการระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลอิเล็คทรอนิกส์
  2. เมื่อเครื่องคอมพิวเตอร์ของกรมศุลกากรตรวจสอบข้อมูลในใบขนสินค้าขาออกส่งมาถูกต้องครบถ้วนแล้ว จะออกเลขที่ใบขนสินค้าขาออกและตรวจสอบเงื่อนไขต่างๆที่กรมศุลกากรกำหนดไว้ เพื่อจัดกลุ่มใบขนสินค้าขาออกเป็น 2 ประเภท ดังต่อไปนี้และแจ้งกลับไปยังผู้ส่งออกหรือตัวแทน เพื่อจัดพิมพ์ใบขนสินค้า

ใบขนสินค้าขาออกที่ต้องตรวจสอบพิธีการ (Red Line) สำหรับใบขนสินค้าประเภทนี้ ผู้ส่งออกหรือตัวแทนต้องนำใบขนสินค้าไปติดต่อกับหน่วยงานประเมินอากรของท่าที่ผ่านพิธีการ

ใบขนสินค้าขาออกที่ไม่ต้องตรวจสอบพิธีการ (Green Line) สำหรับใบขนสินค้าขาออกประเภทนี้ ผู้ส่งออกสามารถชำระค่าอากร (ถ้ามี) และดำเนินการนำสินค้าไปตรวจปล่อยเพื่อส่งออกได้เลยโดยไม่ต้องไปพบเจ้าหน้าที่ประเมินอากร

น่ารู้...เรื่องการส่งออกสินค้า

  1. ถ้าสินค้าที่ส่งออกเป็นสินค้าที่ผู้ส่งออกประสงค์จะนำกลับเข้ามาในประเทศไทยอีกภายในหนึ่งปีโดยขอยกเว้นอากรขาเข้า ให้เพิ่มคู่ฉบับใบขนสินค้าขาออกอีกหนึ่งฉบับเพื่อใช้เป็นหลักฐานที่เรียกว่า ‘ใบสุทธินำกลับ’ เพื่อเป็นหลักฐานในการนำสินค้ากลับเข้ามา
  2. การส่งน้ำมันหรือผลิตภัณฑ์น้ำมันที่ผลิตในราชอาณาจักรไปจำหน่ายยังต่างประเทศและผู้ส่งออกต้องการขอคืนภาษีน้ำมันของกรมสรรพสามิต ให้เพิ่มคู่ฉบับใบขนสินค้าขาออกอีกหนึ่งฉบับและเขียนหรือประทับตรายางมีข้อความว่า ‘ขอคืนภาษีน้ำมันหรือผลิตภัณฑ์น้ำมัน’ ไว้ตอนบนใบขนสินค้าขาออกและคู่ฉบับ
  3. สำหรับท่ากรุงเทพ การส่งสินค้า Re-Export ไปยังประเทศ สปป.ลาว และประสงค์จะขอคืนอากรขาเข้า ให้เพิ่มคู่ฉบับใบขนสินค้าขาออกอีก 1 ฉบับ แนบติดกับต้นฉบับใบขนสินค้าขาออกด้วย
  4. การส่งออกที่ผู้ส่งออกประสงค์จะได้เอกสารส่งออกจากกรมศุลกากรเพื่อขอรับเงินชดเชยอากร จะต้องยื่นคู่ฉบับใบขนสินค้าขาออกอีก 1 ฉบับ ซึ่งมีลักษณะพิเศษคือ มีสีน้ำเงินที่มุมทั้ง 4 มุม
  5. สินค้าส่งออกที่ขอคืนอากรตามมาตรา 19 ทวิ จะต้องยื่นใบแนบใบขนสินค้าขาออก เพื่อขอคืนอากรตามมาตรา 19 ทวิ
  6. สถานที่สำหรับตรวจสินค้าขาออก มีดังนี้
    • ท่าศุลกสถาน (สำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าขาออก) หรือ ณ ทำเนียบท่าเรือที่ได้รับอนุมัติสำหรับการนำเข้า-ส่งออก
    • งานตรวจคอนเทนเนอร์และสถานีตรวจสอบขาออก (Main Gate) ฝ่ายตรวจสินค้าที่ 2 ภายในบริเวณท่าเรือกรุงเทพ
    • สถานีตรวจและบรรจุสินค้าเข้าคอนเทนเนอร์ เพื่อการส่งออก (สตส. LCY.)
    • สำหรับข้าว แร่ ยาง ณ โรงเก็บข้าว โรงสีข้าว โรงเก็บแร่ โรงเก็บ ยาง อันได้รับอนุมัติตามมาตรา 7(4) แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469
    • โรงพักสินค้าสำหรับตรวจของขาเข้า และบรรจุของขาออกที่ ขนส่งโดยระบบคอนเทนเนอร์ นอกเขตท่าทำเนียบท่าเรือ (รพท. หรือ I.C.D./INLAND CONTAINER DEPOT)
    • ทำเนียบท่าเรือเอกชน
    • เขตอุตสาหกรรมส่งออกต่างๆ
    • โรงงานหรือสถานประกอบการของผู้ส่งออก
    • ด่านศุลกากรภูมิภาคต่างๆ
แหล่งที่มา : Link
 8338
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์