ใบลดหนี้ คืออะไร? ออกตอนไหน?

ใบลดหนี้ คืออะไร? ออกตอนไหน?

       ใบลดหนี้ คืออะไร เอกสารที่ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้ขายสินค้าหรือให้บริการไปแล้ว แต่ต้องคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มใหม่เนื่องจากมูลค่าของสินค้าหรือบริการมีจำนวนลดลง

       การขายสินค้าหรือให้บริการโดยทั่วไปแล้วเมื่อได้มีการขายสินค้าหรือให้บริการได้ออกใบกำกับภาษีให้กับลูกค้า แต่ต่อมาอาจเกิดปัญหาขึ้น เช่น สินค้าที่ส่งไปให้ลูกค้าเกิดชำรุด เสียหาย ไม่ต้องตามตัวอย่างที่ได้ตกลงกัน ได้มีการส่งคืนให้กับผู้ขายตามข้อตกลง ผู้ขายก็จะลดหนี้ให้กับลูกค้า โดยผู้ขายจะต้องออกหลักฐานการลดหนี้ให้กับลูกค้า ซึ่งหลักฐานดังกล่าวก็คือ “ใบลดหนี้”

       ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้ขายสินค้าหรือให้บริการไปแล้ว แต่ต้องคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มใหม่เนื่องจากมูลค่าของสินค้าหรือบริการมีจำนวนลดลง เพราะเหตุการณ์ตามที่ระบุไว้ข้างล่างนี้ ออกใบลดหนี้ให้กับผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการในเดือนภาษีที่เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นไม่สามารถออกใบลดหนี้ได้ทันในเดือนภาษีที่มีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ก็ให้ออกใบลดหนี้ให้กับผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการในเดือนภาษีถัดจากเดือนที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้น

สาเหตุในการออกใบลดหนี้ คืออะไรบ้าง

       1. เมื่อมีการลดราคาสินค้า/บริการ เนื่องจากของที่เราส่งไปนั้น “ขาดไป” จากจำนวนที่ตกลงซื้อขายกันไว้ หรือให้บริการ “ขาดไป” หรือบกพร่องหรือผิดไปจากข้อตกลงที่ตกลงกัน

       2. คำนวณราคาสินค้าหรือราคาค่าบริการผิดพลาด “สูงกว่า” ที่เป็นจริง

       3. เราในฐานะผู้ขายได้รับสินค้าที่เราขายไปนั้นกลับคืนมาเนื่องจากสินค้าชำรุดบกพร่องไม่ตรงตามตัวอย่างหรือไม่ตรงคุณสมบัติที่ตกลงไว้ทำให้มีการคืนสินค้าหรือแลกเปลี่ยนสินค้าตามข้อตกลง  (อันนี้ควรต้องมีการแลกเปลี่ยนกันในระยะเวลาที่เหมาะสมทางธุรกิจด้วยนะครับ)

       4. มีการบอกเลิกสัญญาบริการหรือว่าไม่มีการให้บริการตามสัญญา

       5. มีการจ่ายเงินชดเชยให้กับผู้ซื้อ, มีการจ่ายคืนเงินจ่ายล่วงหน้า/เงินประกัน/เงินมัดจำ ให้กับผู้ซื้อตามข้อตกลงทางการค้า และสินค้าต้องมีการส่งมอบคืนกับจริง มิใช่แต่เพียงเอกสาร การได้รับคืนสินค้านอกจากจะต้องเป็นไปตามเหตุการณ์ตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว ต้องเป็นการได้รับคืนสินค้าตามความเป็นจริง กล่าวคือ ผู้ขายสินค้าต้องรับคืนสินค้าและรับสินค้าที่คืนเข้าคลังสินค้าจริง ถ้าเป็นการคืนสินค้าแต่ในทางเอกสารซึ่งไม่มีการรับคืนสินค้ากันในทางข้อเท็จจริง การคืนสินค้าดังกล่าว ไม่อาจถือได้ว่าผู้ขายสินค้าได้รับคืนสินค้าจึงไม่สามารถออกใบลดหนี้ได้ 

ระยะเวลาในการออกใบลดหนี้ ผู้ขาย เมื่อมีเหตุการณ์อันเป็นเหตุให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนผู้ขายสินค้าต้องออกใบลดหนี้ตามกฎหมายแล้ว

ผู้ขาย

       1. ผู้ขายสินค้าจะต้องออกใบลดหนี้ในเดือนที่มีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น (เดือนที่ได้รับคืนสินค้า)

       2. กรณีที่มีเหตุจำเป็นไม่สามารถออกได้ ก็ให้ออกในเดือนถัดจากเดือนที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นตามมาตรา 86/10 แห่งประมวลรัษฎากร และ ผู้ขายสินค้าก็มีสิทธินำภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบลดหนี้ไปหักออกจากภาษีขายของตนเองในเดือนที่ออกใบลดหนี้

       ภาษีขายที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือบริการที่ลดลงตามใบลดหนี้ไปลงรายงานภาษีขาย โดยนำไปหักออกจากภาษีขายของตนในเดือนภาษีที่ออกใบลดหนี้

ผู้ซื้อ

       สำหรับ ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งเป็นผู้ซื้อสินค้าต้องนำภาษีมูลค่าเพิ่มที่ปรากฏในใบลดหนี้ไปหักออกจากภาษีซื้อของตนเองในเดือนที่ได้รับใบลดหนี้ ทั้งนี้ตามมาตรา 82/10 แห่งประมวลรัษฎากรภาษีมูลค่าเพิ่มที่ปรากฏตามใบลดหนี้ไปลงรายงานภาษีซื้อโดยนำไปหักออกจากภาษีซื้อของตนในเดือนภาษีที่ได้รับใบลดหนี้

       สรุป ผู้ออกต้องใช้ในเดือนที่ออก / ผู้รับในเดือนที่ได้รับ ไม่มีกำหนดอายุการใช้งาน 6 เดือนเหมือนใบกำกับภาษีเต็มรูป

ระยะเวลาในการออกใบลดหนี้ ผู้ซื้อ

       เมื่อมีเหตุการณ์อันเป็นเหตุให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนผู้ขายสินค้าต้องออกใบลดหนี้ตามกฎหมายแล้ว ผู้ซื้อที่ได้รับใบลดหนี้ สำหรับผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งเป็นผู้ซื้อสินค้าต้องนำภาษีมูลค่าเพิ่มที่ปรากฏในใบลดหนี้ไปหักออกจากภาษีซื้อของตนเองในเดือนที่ได้รับใบลดหนี้ ทั้งนี้ตามมาตรา 82/10 แห่งประมวลรัษฎากร ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ปรากฏตามใบลดหนี้ไปลงรายงานภาษีซื้อโดยนำไปหักออกจากภาษีซื้อของตนในเดือนภาษีที่ได้รับใบลดหนี้

       สรุป ผู้ออกต้องใช้ในเดือนที่ออก / ผู้รับในเดือนที่ได้รับ ไม่มีกำหนดอายุการใช้งาน 6 เดือนเหมือนใบกำกับภาษีเต็มรูป

รายการที่ต้องปรากฎให้มี - ใบลดหนี้ใบลดหนี้ต้องมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้

       1. คำว่า “ใบลดหนี้” ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด

       2. ชื่อ ที่อยู่ และเลขที่ประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบลดหนี้ และในกรณีที่ตัวแทนเป็นผู้ออกใบลดหนี้ในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียน ให้ระบุชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของตัวแทนนั้นด้วย

       3. ชื่อ ที่อยู่ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ

       4. วัน เดือน ปีที่ออกใบลดหนี้

       5. หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษีเดิม รวมทั้งหมายเลขลำดับของเล่มถ้ามี มูลค่าของสินค้าหรือบริการที่แสดงไว้ในใบกำกับภาษีดังกล่าว มูลค่าที่ถูกต้องของสินค้าหรือบริการ ผลต่างของจำนวนมูลค่าทั้งสองและจำนวนภาษีที่ใช้คืนสำหรับส่วนต่างนั้น

       6. คำอธิบายสั้น ๆ ถึงสาเหตุในการออกใบลดหนี้

       7. ข้อความอื่นที่อธิบดีกำหนด

ใบลดหนี้ = ใบกำกับภาษีเมื่อใดให้ถือว่าใบลดหนี้ตามมาตรานี้เป็นใบกำกับภาษี ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่มีสิทธิออกใบลดหนี้จะต้องเข้าเงื่อนไขดังต่อไปนี้

       (1) เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนที่คำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม

       (2) มีการขายสินค้าหรือให้บริการโดยได้ออกใบกำกับภาษีซึ่งมีรายการตามมาตรา 86/4 หรือมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว

       (3) ภายหลังได้ออกใบกำกับภาษีแล้วได้มีเหตุการณ์อย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้เกิดขึ้นอันเป็นเหตุให้ภาษีขายที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือบริการมีจำนวนลดลงไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

             (ก) มีการลดราคาสินค้าที่ขายเนื่องจากสินค้าผิดข้อกำหนดที่ตกลงกัน สินค้าชำรุดเสียหาย หรือขาดจำนวน คำนวณราคาสินค้าผิดพลาดสูงกว่าที่เป็นจริงหรือเนื่องจากเหตุอื่นตามที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด

             (ข) มีการลดราคาค่าบริการเนื่องจากให้บริการผิดข้อกำหนดที่ตกลงกัน บริการขาดจำนวน คำนวณราคาค่าบริการผิดพลาดสูงกว่าที่เป็นจริง

             (ค) ได้รับสินค้าที่ขายกลับคืนมาเนื่องจากสินค้าชำรุดบกพร่อง ไม่ตรงตามตัวอย่าง ไม่ตรงตามคำพรรณนา หรือเนื่องจากเหตุการให้บริการบกพร่อง หรือให้บริการผิดข้อกำหนดที่ตกลงกัน ตามข้อ 2 (5) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 82)

             (ง) มีการบอกเลิกสัญญาบริการเนื่องจากผู้ประกอบการจดทะเบียนได้มีการคืนเงินจ่ายล่วงหน้า เงินประกัน เงินมัดจำ เงินจอง หรือเงินอื่นที่เรียกเก็บในลักษณะทำนองเดียวกันให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการตามข้อตกลงทางการค้า หรือไม่มีการให้บริการตามสัญญา ตามข้อ 2 (2) และ (6) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 82)

       ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้รับใบลดหนี้นำภาษีมูลค่าเพิ่มที่ปรากฏตามใบลดหนี้ดังกล่าว มาหักออกจากภาษีซื้อของตนในเดือนภาษีที่ได้รับใบลดหนี้นั้น

       - สามารถออกใบเพิ่มหนี้ 1 ฉบับ หรือใบลดหนี้ 1 ฉบับ โดยอ้างถึงใบกำกับภาษีเดิมมากกว่า 1 ฉบับก็ได้ และรายการตามข้อ 3(5) หรือ (6)

       - ผู้ประกอบการจดทะเบียนสามารถใช้เอกสารแนบใบเพิ่มหนี้หรือใบลดหนี้อ้างถึงใบกำกับภาษีเป็นรายใบกำกับภาษีก็ได้

แหล่งที่มา : Link

 1312
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์