ภาษีการรับมรดก

ภาษีการรับมรดก

ภาษีการรับมรดก

       ภาษีการรับมรดก เป็นภาษีที่เก็บจากมูลค่ามรดกที่ทายาทแต่ละคนได้รับจากกองมรดก โดยที่ผู้รับมรดกเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษี และมักจะมีการกำหนดค่าลดหย่อนและอัตราภาษีที่เป็นประโยชน์กับผู้รับมรดกที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้ตาย ทำให้ผู้รับมรดกที่มีความใกล้ชิดกับผู้ตายมีภาระภาษีที่น้อยกว่าผู้รับมรดกแต่ละคนมากกว่า เพราะรับภาระภาษีตามสัดส่วนมูลค่าของมรดกที่ตนได้รับ

ผู้มีหน้าที่เสียภาษีการรับมรดก

       ผู้มีหน้าที่เสียภาษีการรับมรดก ได้แก่ ผู้ได้รับมรดกจากเจ้ามรดกแต่ละราย ไม่ว่าจะได้รับมาในคราวเดียวหรือหลายคราว ถ้ามรดกที่ได้รับมาจากเจ้ามรดกแต่ละรายรวมกันมีมูลค่าของทรัพย์สินทั้งสิ้นที่ได้รับเป็นมรดก หักด้วยภาระหนี้สินอันตกทอดมาจากการรับมรดกเกิน 100 ล้านบาท ต้องเสียภาษีเฉพาะส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท สำหรับผู้รับมรดก ดังนี้

      1.   บุคคลธรรมดาได้แก่ บุคคลดังต่อไปนี้

           (1) บุคคลผู้มีสัญชาติไทย

           (2) บุคคลธรรมดาผู้มิได้มีสัญชาติไทย แต่มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

           (3) บุคคลธรรมดาผู้มิได้มีสัญชาติไทย แต่ได้รับมรดกอันเป็นทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย

            บุคคลธรรมดาตาม (1) (2) ให้เสียภาษีจากทรัพย์สินทั้งที่อยู่ในประเทศไทยและนอกประเทศ

           บุคคลตาม (3) ให้เสียภาษีจากทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย

      2. นิติบุคคลที่มีสัญชาติไทย ได้แก่ นิติบุคคลที่ถือว่าเป็นบุคคลมี่มีสัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2559 ดังต่อไปนี้

          (1) เป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย หรือ

          (2) นิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายในประเทศไทย หรือ

          (3) เป็นนิติบุคคลที่ผู้มีสัญชาติไทย ถือหุ้นเกินร้อยละ 50 ของทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วในขณะมีสิทธิได้รับมรดก หรือ

          (4) เป็นนิติบุคคลที่ผู้มีสัญชาติไทย เป็นผู้มีอำนาจบริหารกิจการเกินกึ่งหนึ่งของคณะบุคคลซึ่งมีอำนาจบริหารกิจการทั้งหมด

          นิติบุคคลตาม (1) – (4) ให้เสียภาษีการรับมรดกจากมรดกที่ได้รับเป็นทรัพย์สินทั้งที่อยู่ในประเทศไทยและนอกประเทศ
       
      3. กรณีผู้ที่ได้รับมรดกเป็นนิติบุคคลที่มิได้ถือว่าเป็นบุคคลผู้มีสัญชาติไทยตาม 2. แต่ได้รับมรดกอันเป็นทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย ให้เสียภาษีจากทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย

บทกำหนดโทษ

1. บุคคลธรรมดา

       (1) หากไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษี (ภ.ม.60) โดยไม่มีเหตุอันสมควร ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500,000 บาท

       (2) หากไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมิน หรือไม่ยอมตอบคำถามของเจ้าพนักงานประเมิน หรือของประธานคณะกรรมการอุทธรณ์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือนหรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

       (3) หากทำลาย ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปซึ่งทรัพย์สินที่ถูกยึด หรืออายัด ให้แก่บุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 400,000 บา

       (4) หากจงใจยื่นข้อความเท็จ หรือให้ถ้อยคำเท็จ หรือตอบคำถามด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จ หรือนำพยานหลักฐานเท็จมาแสดงเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษี หรือให้ความเท็จ โดยเจตนาละเลย โดยฉ้อโกงหรือใช้อุบาย โดยวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใด หลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษี หรือแนะนำหรือสนับสนุนให้บุคคลอื่นกระทำการดังกล่าว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2. นิติบุคคล

       หากผู้กระทำความผิดเป็นนิติบุคคล ให้กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือผู้แทนของนิติบุคคล ต้องรับโทษ โดยถือว่ามีส่วนร่วมในการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น

แหล่งที่มา : https://www.rd.go.th

 750
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์