การกระตุ้นเศรษฐกิจแบบ Whatever it takes ของรัฐบาลไทย

การกระตุ้นเศรษฐกิจแบบ Whatever it takes ของรัฐบาลไทย

        โดยทั่วไปแล้ว นโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐจะมี 2 ประเภท นั่นก็คือ

1. นโยบายการเงิน

2. นโยบายการคลัง

        ก่อนอื่นเรามาดูนโยบายของสหรัฐอเมริกา ประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก และก็เป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อ Covid-19 มากที่สุดในโลกเช่นกัน ธนาคารกลางของสหรัฐฯ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง มาอยู่ที่ 0-0.25% พร้อมทั้งประกาศการเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงิน (QE) กว่า 22 ล้านล้านบาท ก่อนที่จะตามมาด้วยการทำ QE ครั้งที่ 2 โดยไม่จำกัดปริมาณ วัตถุประสงค์ก็เพื่อทำให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินอยู่ในระดับต่ำ ในกรณีนี้ สิ่งที่ธนาคารกลางนำออกมาใช้นั้นเราเรียกว่า "นโยบายการเงิน"

        อีกด้านหนึ่ง สภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ โหวตอนุมัติงบกระตุ้นเศรษฐกิจฉุกเฉินหลังวุฒิสภาได้ผ่านร่างงบประมาณอีก 70 ล้านล้านบาท โดยงบกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งนี้ เป็นงบที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งในกรณีนี้ นโยบายที่รัฐบาลสหรัฐฯ นำออกมาใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นเราเรียกว่า “นโยบายการคลัง”

        กลับมาที่ประเทศไทยของเรา ก็จะเป็นไปในแนวทางเดียวกับสหรัฐฯนั่นคือ การดำเนินนโยบายการเงินจะทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย และการดำเนินนโยบายการคลังจะทำโดยกระทรวงการคลัง ในส่วนของนโยบายการเงินนั้น นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 ถึงปัจจุบัน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำการลดดอกเบี้ยไปแล้วทั้งหมด 4 ครั้ง
        - ปี 2562 ธปท. ลดดอกเบี้ยจำนวน 2 ครั้ง ซึ่งเป็นผลจากค่าเงินบาทแข็งค่าจนกระทบการส่งออก และภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยชะลอตัว
        - ปี 2563 ธปท. ลดดอกเบี้ยจำนวน 2 ครั้ง จากผลกระทบของ Covid-19

        ปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 0.75% ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย ถ้ามองอีกมุมคือ ธนาคารแห่งประเทศไทยนั้นเหลือกระสุนสำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจอีกไม่มากเท่าไร เพราะอัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศกำลังเข้าใกล้ 0% เข้าไปทุกที แน่นอนว่าการที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำจะช่วยทำให้ต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจนั้นลดลง แต่อย่างไรก็ตาม อีกมุมหนึ่ง ยิ่งอัตราดอกเบี้ยลดต่ำลงเรื่อยๆ จะทำให้รายได้ของผู้ออมเงินนั้นลดลง ซึ่งสุดท้ายก็จะไปกระทบกับภาคครัวเรือน รวมทั้งผู้ที่อยู่ในวัยเกษียณที่ต้องการรายได้จากดอกเบี้ย
        ดูเหมือนว่า การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น มีข้อจำกัดมากขึ้นเรื่อยๆ พอเรื่องเป็นแบบนี้ ความหวังสุดท้ายที่ต้องรีบเข้ามาช่วยให้ประเทศหลุดพ้นจากวิกฤติไวรัส Covid-19 คือ นโยบายการคลัง..
แต่การดำเนินนโยบายการคลังไม่ใช่ว่ารัฐบาลจะสามารถใช้จ่ายเงินเท่าไรก็ได้ เนื่องจากต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ซึ่งหนึ่งในข้อกำหนดนั้นคือ รัฐบาลต้องคงสัดส่วนหนี้สาธารณะไม่เกิน 60% ของ GDP

        คำถามที่สำคัญต่อมาก็คือ แล้ววันนี้สัดส่วนหนี้สาธารณะของประเทศไทยต่อ GDP นั้นอยู่ที่เท่าไร?
  • เดือนกุมภาพันธ์ 2563 หนี้สาธารณะของประเทศไทยแบ่งออกเป็น
        1. หนี้รัฐบาล จำนวน 5.80 ล้านล้านบาท
        2. หนี้รัฐวิสาหกิจ จำนวน 888,165 ล้านบาท
        3. หนี้รัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจในภาคการเงินฯ จำนวน 327,049 ล้านบาท
        4. หนี้หน่วยงานของรัฐ จำนวน 8,611 ล้านบาท
       
        ซึ่งรวมแล้วเท่ากับ 7 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 41% ของ GDP ของไทยที่เท่ากับ 17 ล้านล้านบาท นั่นหมายความว่า รัฐบาลสามารถที่จะก่อหนี้สาธารณะได้อีกถึง 3 ล้านล้านบาท ซึ่งจะทำให้หนี้สาธารณะของไทยขึ้นถึงระดับ 60% ของ GDP

        คำถามต่อไปคือ แล้วจำนวนหนี้สาธารณะที่สามารถก่อเพิ่มขึ้นได้เพียงพอที่จะบรรเทาผลกระทบจาก Covid-19 ได้หรือไม่?

        ธนาคารแห่งประเทศไทย เพิ่งมีการคาดการณ์ว่า GDP ไทยจะติดลบ 5.3% ในปี 2563 จากผลกระทบของ Covid-19 นั่นหมายความ มูลค่าเศรษฐกิจไทยอาจจะได้รับผลกระทบประมาณ 9 แสนล้านบาท
ล่าสุดคณะรัฐมนตรีออกมาตรการเพื่อมาบรรเทาผลกระทบของ Covid-19 อีกครั้ง จำนวนเกือบ 2 ล้านล้านบาท โดยแบ่งเป็น

        1. การออก พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทของกระทรวงการคลัง เพื่อนำไปใช้ในงานด้านสาธารณสุข เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ จำนวน 600,000 ล้านบาท และงานฟื้นฟูเศรษฐกิจ จำนวน 400,000 ล้านบาท
        2. การออก พ.ร.ก. เพื่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทย มีอำนาจในการออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) เพื่อดูแลภาคธุรกิจโดยเฉพาะ SME จำนวน 500,000 ล้านบาท และดูแลเสถียรภาพตลาดการเงินด้วยการจัดตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน จำนวน 400,000 ล้านบาท

        ถ้าดูแบบนี้ก็ต้องบอกว่า ตอนนี้ประเทศไทยของเราพยายามอย่างเต็มที่ ที่จะใช้ทั้งนโยบายการเงินและการคลังเพื่อจะบรรเทาผลกระทบจากวิกฤติครั้งนี้ ถ้ารัฐบาลสหรัฐฯ กำลังทำทุกวิถีทาง หรือเรียกว่า Whatever it takes
รัฐบาลไทยก็น่าจะเข้าขั้นนั้นไม่ต่างกันแล้ว เพราะมาตรการล่าสุดนี้คิดเป็นสัดส่วนถึง 11% ของ GDP ประเทศไทย มากกว่าการหดตัวลงของ GDP ไทยที่คาดกันว่าจะติดลบ 5.3% ถึง 2 เท่า ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า งบประมาณทั้งหมดนี้จะถูกนำไปใช้แก้ปัญหาได้ตรงจุด ทันเวลา และมีประสิทธิภาพมากแค่ไหน?

        ที่ผ่านมา เราคงเคยได้ยินว่า ไม่ว่ายุคไหน สมัยไหน เมื่อรัฐบาลมีความจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อมาใช้จ่ายทุกครั้งก็จะโดนโจมตีจากฝ่ายการเมืองตรงข้าม แต่ในครั้งนี้ไม่ว่าเราจะอยู่ฝ่ายไหน ทุกคนคงต้องยอมรับว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งนี้มันจำเป็นจริงๆ เพราะปัญหา Covid-19 กำลังสร้างความบอบช้ำอย่างหนักต่อประเทศไทยของเรา และการกระตุ้นในครั้งนี้คงจะช่วยต่อลมหายใจเฮือกสุดท้ายให้กับคนไทยหลายคนในตอนนี้ได้บ้าง ไม่มากก็น้อย
       
        ดังนั้นในครั้งนี้ถ้าถามว่า Whatever it takes จำเป็นแค่ไหน? ก็คงต้องตอบว่า เราอาจต้องทำอะไรก็ได้ก่อนที่มันจะไม่เหลืออะไรให้ทำ..

ที่มา : Link
รวมบทความบัญชีมากถึง 1,000 : https://www.myaccount-cloud.com/Article/List/1612
 889
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์