เทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่กับผลกระทบต่อระบบบัญชีต้นทุน

เทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่กับผลกระทบต่อระบบบัญชีต้นทุน

ในกิจการที่มีลักษณะเป็นอุตสาหกรรมการผลิตสินค้านั้น แต่เดิมก็มักจะมีลักษณะการผลิตแบบดั้งเดิม (Traditional Production) คือ จะมีการผลิตสินค้าเตรียมไว้เพื่อขาย(Push Through System) ซึ่งในการผลิตลักษณะนี้จะทำให้มีต้นทุนการผลิตที่สูง เมื่อเปรียบเทียบกับระบบการผลิตแบบใหม่ คือ การผลิตแบบทันเวลาพอดี (JUST-IN-TIME) หรือที่เราเรียกว่า “การผลิตแบบ JIT” ซึ่งการผลิตแบบนี้

นับว่ามีความสำคัญในการบริหารการผลิตและเพิ่มผลผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมสมัยใหม่เป็นอย่างมาก โดยหลักการของการผลิตแบบ JIT นั้นก็เป็นเรื่องง่ายๆและธรรมดา กล่าวคือ โรงงานจะทำการผลิตสินค้าให้เสร็จและจัดส่งออกไปเมื่อมีการขายเกิดขึ้นเท่านั้น (Demand-Pull System) และวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนประกอบต่างๆที่ใช้ในการผลิตสินค้าก็จะถูกนำมาผลิต และประกอบตามจำนวนความต้องการของลูกค้า ด้วยเหตุนี้วัตถุดิบและวัสดุต่างๆก็จะถูกสั่งซื้อเข้ามาก็ต่อเมื่อมีความต้องการเท่านั้น ซึ่งเมื่อเราจะเปรียบเทียบ ลักษณะการผลิตและประกอบตามจำนวนความต้องการของลูกค้า

ด้วยเหตุนี้วัตถุดิบและวัสดุต่างๆก็จะถูกสั่งซื้อเข้ามาก็ต่อเมื่อมีความต้องการ เท่านั้น ซึ่งเมื่อเราจะเปรียบเทียบลักษณะการผลิตแบบ JIT กับการผลิตแบบดั้งเดิม โดยทั่วไปแล้วจะเห็นว่าลักษณะการผลิตแบบดั้งเดิม จะเน้นให้มีการผลิตครั้งละมากๆ (Mass Production) เพราะถือว่าการผลิตยิ่งมากจะทำให้เกิดการประหยัดมากที่สุด ในขณะที่การผลิตแบบ JIT จะผลิตเมื่อสินค้านั้นถูกต้องการเท่านั้น

โดยหลักการของการผลิตแบบ JIT คือ ต้องการที่จะทำให้ค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษา (Carrying Cost) ต่ำที่สุด ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบ งานระหว่างการผลิตและสินค้าสำเร็จรูป ดังนั้นโดยหลักการของ JIL แล้วปริมาณที่จะประหยัดที่สุดก็คือ การผลิต 1 ต่อ 1 หมายความว่า เมื่อผลิตได้ 1 หน่วยก็จะต้องขายได้ 1 หน่วยเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตามคิดว่าก็ยังไม่มีโรงงานใดในโลกที่จะสามารถทำได้อย่างสมบูรณ์แบบ สำหรับการผลิตแบบ JIT จึงต้องพยายามที่จะให้การผลิตนั้นมีคุณภาพมากที่สุด

ทั้งนี้เป็นเพราะว่าการผลิตจะเป็นลักษณะที่มีการผลิตเมื่อมีความต้องการให้สินค้าเท่านั้น ดังนั้นจึงต้อง ให้ความสำคัญต่อคุณภาพที่สมบูรณ์แบบ (Total Quality Control) สำหรับลักษณะโดยทั่วไปของ TQC นั้นจะเน้นที่การระมัดระวังในการผลิตของคนงาน คนงานทุกคนจะต้องรักษา คุณภาพของสินค้าที่ตนเองผลิตอยางเต็มที่ เพราะถ้าสินค้าที่ผลิตขึ้นมาไม่มีคุณภาพแล้วก็อาจจะทำให้ไม่สามารถที่จะมีการผลิตต่อไปได้ เมื่อเทคโนโลยีด้านการผลิตมีแนวคิด ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม แน่นอนย่อมที่จะส่งผลกระทบต่อระบบหรือวิธีการบันทึกบัญชีต้นทุนที่กิจการส่วนใหญ่ใช้มาตั้งแต่ในอดีต ซึ่งจะได้กล่าวต่อไปในภายหลัง

ข้อแตกต่างระหว่างการผลิตแบบเดิมกับเทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่ จากการผลิตแบบดั้งเดิมและการผลิตแบบ JIT นั้นต่างก็มีลักษณะเด่นที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นเมื่อเราจะมา พิจารณาถึงความแตกต่างของระบบการผลิตทั้งสองชนิดนี้แล้วก็สามารถที่จะพิจารณาได้ดังนี้คือ ในลักษณะของการผลิต

สำหรับในเรื่องของการผลิตนั้น เมื่อพิจารณาการผลิตแบบดั้งเดิมจะเห็นว่าในลักษณะการผลิตแบบดั้งเดิม จะเน้นที่ความสมดุลของสายการผลิต คือ จะมีการแบ่งงานออกเป็นหน่วยงานย่อยๆ หรือแบ่งเป็นแผนกๆและมีการแบ่งงานกันทำตามลักษณะของความชำนาญ ในขณะที่ลักษณะการผลิตแบบ JIT นั้นจะมุ่งที่ความคล่องตัวของการผลิต จึงมีลักษณะการผลิตแบบกลุ่มการผลิต (MANUFACTURING CELL) ซึ่งคนงานจะต้องสามารถปฏิบัติงานได้หมดทุกอย่างในกระบวนการผลิต

เรื่องกลยุทธ์ในการผลิต

กลยุทธ์ในการผลิตของการผลิตแบบดั้งเดิมจะมีลักษณะของการกำหนดสายการผลิตที่แน่นอนมั่งคง โดยจะให้สามารถทำการผลิตได้นานๆ ตรงข้ามกับการผลิตแบบ JIT ซึ่งสามารถที่จะแปลงการผลิตได้ทันที เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดและลูกค้า ทั้งนี้ปรัชญาในการผลิตแบบ JIT คือ จะต้องผลิตสินค้าให้ได้คุณภาพมากที่สุด และเป็นที่พึงพอใจของลูกค้าตามปริมาณที่ลูกค้าต้องการ

การมอบหมายงาน

การผลิตแบบดั้งเดิมมักจะมีการมอบหมายงานให้คนงานทำเฉพาะงานที่ตนถนัด โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงงานเพื่อให้เกิดความชำนาญเฉพาะอย่าง ในขณะที่การผลิต JIT มุ่งให้คนงานมีความคล่องตัวในการทำงาน โดยสามารถเปลี่ยนงานจากงานหนึ่งไปทำอีกงานหนึ่งได้ทันทีที่ได้รับมอบหมาย ด้วยเหตุนี้ทำให้การใช้แรงงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการประหยัดต้นทุนในที่สุด

การเก็บและระดับสินค้าคงเหลือ

เรื่องการผลิตให้มีสินค้าคงเหลือนั้น สำหรับการผลิตแบบดั้งเดิมนั้นจะมีการวางแผนการผลิต เพื่อให้มีสินค้าพอที่จะขายโดยมีการผลิตเก็บไว้ใช้สำหรับแก้ไขปัญหา ในกรณีที่มีควมต้องการมากขึ้นและเพื่อแก้ปัญหาเมื่อต้องการหยุดงานเนื่องจากเครื่องจักรเสีย ในขณะที่ระบบการผลิตแบบ JIT จะไม่มีการผลิตสินค้าเก็บไว้ แต่จะอาศัยคุณภาพในการใช้เครื่องจักร และการบำรุงรักษาเพื่อไม่ให้เครื่องจักรเสียเมื่อต้องปฏิบัติงาน

การใช้เทคนิคที่ซับซ้อนยุ่งยาก

ระบบการผลิตแบบดั้งเดิมมักจะมีการใช้เทคนิคการวางแผนการผลิตและมีการนำเครื่องคอมพิวเตอร์มาใช้เพื่อกำหนดการผลิต ในขณะที่การผลิตแบบ JIT มุ่งที่จะอาศัยความร่วมมือร่วมใจของคนงานในการแก้ปัญหาโดยเฉพาะ ในจุดที่มีการติดขัดของการผลิต รวมถึงการวางแผนการผลิตจะเกิดขึ้นเมื่อมีการขาย ในขณะที่การวางแผนการผลิตแบบดั้งเดิมจะกระทำก่อนที่จะมีการขายเกิดขึ้น

อัตราการผลิตและการตรวจสอบคุณภาพ

ในระบบการผลิตแบบดั้งเดิมจะมีการผลิตในอัตราความเร็วที่คงที่เนื่องจากได้มีการวางแผนการผลิตไว้ล่วงหน้า จากความต้องการสินค้าตลอดปี นอกจากนี้ก็จะมีหน่วยตรวจสอบคุณภาพ ทำการตรวจสอบงานชิ้นที่ไม่ได้คุณภาพแล้วส่งไปแก้นอกสายการผลิตแบบ JIT มักจะผลิตด้วยอัตราความเร็วสูง และจะทำการตรวจสอบคุณภาพด้วยตนเอง และแก้ไขให้ได้คุณภาพทันทีในสายการผลิตโดยใช้ระบบการควบคุมคุณภาพแบบ TQC

อุปกรณ์และเครื่องมือเครื่องจักรในการผลิต สำหรับการผลิตแบบดั้งเดิมนั้นมักจะมีการจัดวางอุปกรณ์ตามสถานีการผลิต และมักจะมีการใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่และทันสมัย โดยพยายามที่จะใช้งานให้เต็มที่แต่ระบบการผลิตแบบ JIT นั้นจะจัดอุปกรณ์การผลิตให้อยู่ติดกันและเครื่องมือที่ใช้ก็สามารถที่จะสร้างได้เองในโรงงาน
จำนวนการผลิต

การผลิตแบบดั้งเดิมมักจะนิยมทำการผลิตในลักษณะจำนวนมากๆ (MASS PRODUCTION) เพื่อให้มีความประหยัดมากที่สุดในการผลิตขณะที่ระบบการผลิตแบบ JIT จะทำการผลิตจำนวนน้อยๆ และให้ทันต่อความต้องการ โดยพยายามที่จะให้บรรลุเป้าหมายที่ว่าการผลิตที่ประหยัดที่สุดเท่ากับ 1 หน่วย
ระบบการสั่งซื้อวัตถุดิบ

เรื่องการสั่งซื้อวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิต โรงงานที่ใช้ระบบการผลิตแบบดั้งเดิมมักจะมีการสั่งซื้อวัตถุดิบมาเก็บไว้ เพื่อเตรียมการผลิตเพื่อป้องกันมิให้เกิดการขาดแคลน วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต ซึ่งในวิธีนี้จะทำให้มีต้นทุนการสั่งซื้อ

ข้อได้เปรียบของการใช้ระบบการผลิตแบบ JIT

ด้านต้นทุนการผลิตและลดขนาดการผลิต ในระบบการผลิตแบบ JIT นั้นจะทำการผลิตเมื่อมีการสั่งซื้อเท่านั้น ดังนั้นจะมีการลดต้นทุนการเก็บรักษาสินค้า และวัตถุดิบ นอกจากนี้ยังลดต้นทุนในสินค้าที่ผลิตมาแล้วไม่ได้จำหน่าย ออกไป ดังนั้นตามทฤษฎีแล้วระบบการผลิตสินค้าแบบ JIT จะมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำที่สุดในระดับการผลิตที่ต่ำที่สุดด้วย ตามหลักการของJIT แล้วระดับการผลิตที่ประหยัดที่สุดคือ 1 หน่วย

ด้านคุณภาพของสินค้า ในระบบการผลิตแบบ JIT นั้นมักจะใช้ควบคู่ไปกับระบบการควบคุมคุณภาพอย่างสมบูรณ์ (TQC) ดังนั้นจึงทำให้สินค้าที่ผลิตออกมามีคุณภาพดี ซึ่งจะต้องไม่มีของเสียเกิดขึ้นเลย ในขบวนการผลิตตามแบบของ JIT

ลดการลงทุนในสินทรัพย์ประจำ ในระบบการผลิตแบบ JIT จะไม่มีการเก็บสินค้าไว้ และไม่มีการสั่งซื้อวัตถุดิบมาเก็บไว้ในโกดังหรือคลังสินค้า ดังนั้น ทำให้กิจการสามารถที่ประหยัดเงินทุนในสินทรัพย์ประจำเหล่านี้ได้

ทำให้คนงานมีความรับผิดชอบสูงและมีความสามารถทั่วไป ระบบการผลิตแบบ JIT เน้นที่คนงานจะต้องมีความรับผิดชอบสูงในเรื่องของการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพ ทั้งนี้เพราะถ้าคนงานคนใดผลิตสินค้าไม่ได้คุณภาพก็จะทำให้ไม่สามารถ ทำการผลิตต่อไปได้ นอกจากนี้คนงานจะต้องมีความสามารถโดยทั่วไป ดังนั้นคนงานจึงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดระบบการผลิตแบบนี้

ทำให้ลดเวลาเตรียมการผลิต ในระบบการผลิตแบบ JIT นั้นจะมีระบบการผลิตที่ง่ายๆและใช้เครื่องมือเครื่องจักรที่ไม่ซับซ้อน ดังนั้นจึงทำให้เวลาในการเตรียมการผลิตลดลง ทำให้ไม่ต้องเสียต้นทุนในการเตรียม การผลิต

ด้านการบริหารต้นทุน เมื่อระบบการผลิตเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะที่มีการจัดกระบวนการผลิตเป็น Manufacturing Cell ทำให้การใช้อุปกรณ์ แรงงาน และต้นทุนที่เกิดขึ้นและเป็นของแผนกใด ด้วยเหตุนี้ต้นทุนทางอ้อม (Indirect Costs) หลายชนิดจึงกลายเป็นต้นทุนทางตรง(Direct Costs) เช่น ค่าซ่อมแซม ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงวัสดุสิ้นเปลือง หรือเงินเดือน ผู้ควบคุมการผลิตเป็นต้นซึ่งสาเหตุเหล่านี้ก็จะช่วยในการลดปัญหา การจัดสรรต้นทุนทางอ้อม (Allocation) และจะช่วยให้การคิดต้นทุนการผลิตมีความถูกต้องและรวดเร็วยิ่งขึ้น

ข้อได้เปรียบของการใช้ระบบการผลิตแบบดั้งเดิม (TRADITIONAL PRODUCTION)

ในกรณีที่เป็นการผลิตสินค้าที่มีลักษณะยุ่งยากซับซ้อน สำหรับกระบวนการผลิตที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีชั้นสูงและมีความยุ่งยากซับซ้อน การใช้ระบบการผลิตแบบ JIT จึงจะไม่มีความเหมาะสม เพราะระบบ JIT มักจะใช้กับระบบการผลิตที่ง่ายๆ และไม่ต้องอาศัยเทคโนโลยีชั้นสูงอะไร

ถ้าเป็นกรณีของการผลิตสินค้าแบบ MASS PRODUCTION ในกรณีที่จำเป็นต้องมีการผลิตในลักษณะ MASS PRODUCTION แล้วระบบการผลิตแบบดั้งเดิม ดูจะมีความได้เปรียบกว่า เพราะต้องอาศัยวัตถุดิบจำนวนมากซึ่งระบบ JIT จะทำการผลิตแบบ MASS PRODUCTION ไม่ได้

มีสินค้าจำหน่ายได้ทันทีที่ต้องการ การผลิตแบบดั้งเดิมจะมีการผลิตสินค้าตามตารางการผลิต และมักจะมีการผลิตสินค้าเหลือเก็บไว้ในคลังสินค้าเพื่อสำรองไว้ ในกรณีที่มีลูกค้าต้องการกะทันหัน หรือสำรองไว้ในกรณี ที่เครื่องจักรไม่สามารถทำการผลิตได้

ไม่ก่อให้เกิดการว่างงาน กรณีที่ไม่มีการสั่งซื้อจากลูกค้าระบบการผลิตแบบดั้งเดิมก็จะไม่ทำให้คนงาน เกิดการว่างงาน เพราะจะมีการผลิตไปเรื่อยๆ เพื่อเตรียมไว้จำหน่ายภายหลัง ถึงแม้ว่าระบบการผลิตแบบ JIT จะบอกว่าถ้าไม่มีการผลิตก็สามารถนำคนงานไปใช้งานอย่างอื่นได้ อย่างไรก็ตามคิดว่าก็ไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะแก้ไขปัญหานี้ได้ทั้งหมด

สามารถวางแผนการผลิตได้ล่วงหน้าได้แน่นอน ในการผลิตแบบ JIT ทำให้ไม่สามารถที่จะจัดทำแผนการผลิต และงบประมาณการขายได้อย่างแน่นอน ซึ่งทำให้ระบบการควบคุมและจัดผลงานทำได้ยากยิ่งขึ้น

สินค้าที่มีความต้องการตามฤดูกาล ถ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่จะมีความต้องการในช่วงฤดูกาลใดฤดูกาลหนึ่งเท่านั้น การใช้ระบบการผลิตแบบ JIT ดูจะไม่ให้ผลดีเลย เพราะจะทำให้เกิดการว่างงานและไม่มีการผลิตในช่วงอื่นๆ สินค้าผลิตไม่ทันกับความต้องการ ดังนั้นในประเด็นนี้ ระบบการผลิตแบบดั้งเดิมจะมีความได้เปรียบเทียบมากกว่า

สินค้าที่มีราคาถูกและมีหลายรูปแบบ ถ้าสินค้าที่ทำการผลิตมีราคาถูกและมีหลายรูปแบบแล้ว การผลิตแบบ JIT ดูจะใช้ไม่ได้ผล เพราะแทนที่จะทำให้สินค้ามีต้นทุนต่ำกลับจะทำให้มีต้นทุนสูงขึ้นมากกว่า และถ้าสินค้านั้น จำเป็นต้องมีหลายๆ รูปแบบ ระบบ JIT คงจะไม่สามารถตอบสนองได้ทันที

JIT และผลกระทบที่มีต่อการบัญชีต้นทุน

จากการที่ JIT เป็นระบบการผลิตแนวใหม่ที่มุ่งเน้นในการเพิ่มผลผลิต (Output) ให้เพิ่มขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพด้วยเหตุนี้ วิธีการจัดซื้อวัตถุดิบ วิธีการผลิต ตลอดจนวิธีการคิดต้นทุนของสินค้าก็ได้รับผลกระทบให้มีการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ทั้งนี้เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการเพิ่มผลผลิตตามปรัชญาของ JIT เป็นการผลิตที่มุ่งลดงานระหว่างผลิต (Work in Process) เป็นส่วนสำคัญอยู่แล้ว ดังนั้นหลักการบัญชีต้นทุนที่ใช้ระบบการผลิตแบบ JIT จึงไม่มีบัญชีระหว่างการผลิต การคิดต้นทุนการผลิตก็จะคิดต้นทุนการผลิตโดยตรงในบัญชีสินค้าสำเร็จรูป(Finished Goods) โดยการคิดต้นทุนจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ คิดจากบัญชีวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต (Materials in Process)และบัญชีต้นทุนแปรสภาพ(Conversion Cost) ซึ่งในจุดนี้พอที่จะอธิบายถึงความแตกต่างได้ว่า

ในการผลิตแบบเดิม วัตถุดิบ (Raw Materials) ที่ซื้อมาจะถูกบันทึกในบัญชีวัตถุดิบคงคลัง และเมื่อมีการเบิกใช้ในการผลิตก็จะโอนเข้าบัญชีวัตถุดิบคงคลัง และเมื่อมีการเบิกใช้ในการผลิตก็จะโอนเข้าบัญชีงานระหว่างผลิต ทั้งนี้ด้วยเหตุผลที่ว่าระบบการผลิตแบบ JIT ซึ่งแตกต่างไปจากการผลิตแบบดั้งเดิมก็คือ การแปรสภาพวัตถุดิบให้เป็นสินค้าสำเร็จรูปจะถูกสะสมต้นทุนในบัญชีต้นทุนแปรสภาพ(Conversion Cost Control) ซึ่งจะประกอบด้วยต้นทุนแรงงานทางตรง (Direct Labor Costs) และค่าใช้จ่ายโรงงาน(Factory Overhead Cost Control)แทนที่จะทำการสะสมต้นทุนแยกคนละบัญชีตามรูปแบบเดิม

ทั้งนี้เพราะแนวคิดในการผลิตแบบ JIT ทำให้ต้นทุนแรงงานทางตรงและค่าใช้จ่ายโรงงานสามารถที่จะถูกจำแนกเป็นต้นทุนตร ง(Direct Cost) ของแผนกหรือผลิตภัณฑ์ได้อย่างชัดเจน การสะสมต้นทุนแปรสภาพ ในขณะที่การโอนต้นทุนแปรสภาพสภาพไปเป็นต้นทุนการผลิตของสินค้าสำเร็จรูป ก็จะทำการโอนโดยเครดิต(Credit) จากบัญชีต้นทุนแปรสภาพจัดสรร(Applied Conversion Cost) เพื่อสามารถทำการคำนวณต้นทุนสินค้าที่ผลิตเสร็จได้ทันที อย่างไรก็ตามเมื่อถึงวันสิ้นงวดกิจการก็สามารถที่จะคำนวณหาผลต่างของต้นทุนแปรสภาพจัดสรรว่ามีจำนวนสูงหรือต่ำกว่าที่เกิดขึ้นจริง (Over or Under applied Conversion Cost) เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนและควบคุมต้นทุนตลอดจนการปรับปรุงงบการเงินต่อไป

บทสรุป

ในปัจจุบันนี้มีหลายบริษัทได้หันมาใช้ระบบการผลิตแบบ JIT โดยมีเป้าหมายที่สำคัญ คือ การลดต้นทุนการผลิต โดยกิจการที่มีการใช้ระบบการผลิต JIT ได้ผลดีมักจะเป็นกิจการที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตและจำหน่ายรถยนต์ รถจักรยานยนต์ หรื่อเครื่องจักรกล เป็นต้น ทั้งนี้ เนื่องจากรูปแบบของการใช้สินค้าของผู้บริโภค ตลอดจนความต้องการในคุณภาพ ราคา และรูปแบบของสินค้าที่จะสร้างความพอใจสูงสุดให้แก่ผู้บริโภค ทำให้กิจการที่ทำการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพทั้งทางด้านรูปแบบ คุณลักษณะการใช้งาน ราคา จำนวน ตลอดจนความรวดเร็วในการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ระบบการผลิตแบบ JIT จึงได้ถูกพัฒนาขึ้นและนำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย หลายประเทศในประเทศญี่ปุ่น อเมริกาและบางประเทศในแถบยุโรป

อย่างไรก็ตาม การที่กิจการใดมีความสนใจหรือต้องการใช้ระบบผลิตแบบ JIT ก็คงหลีกหนีไม่พ้นที่จะต้องคำนึงถึงผลได้ผลเสีย (Cost-Benefit) ตลอดคนความเหมาะสมกับรูปแบบความต้องการสินค้าชนิดนั้นๆของผู้บริโภค ทั้งนี้ เพราะความต้องการในสินค้าหลายๆ ชนิดของผู้บริโภคไม่เหมาะสมที่จะต้องใช้ระบบการผลิตแบบ JIT แทนการผลิตแบบดั้งเดิมที่เคยใช้กันอยู่ ถึงแม้ว่าระบบการผลิตแบบ JIT จะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตของกิจการ แต่เครื่องมืออื่นๆ ที่เคยใช้ในการวางแผน และควบคุมต้นทุนตามระบบการผลิตแบบดั้งเดิมก็ยังมีความสำคัญ และจำเป็นที่จะต้องนำมาใช้เพื่อให้ระบบการผลิตแบบ JIT มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น งบประมาณ การบัญชีต้นทุนมาตรฐาน การบัญชีตามความรับผิดชอบ การวางแผนเกี่ยวกับตารางการผลิตตลอดจนการวางแผนเกี่ยวกับการจัดซื้อวัตถุดิบ เป็นต้น

บทความโดย : www.accountancy.in.th

 6028
Visitor
Get started for free today. Free Trial
Create a website for free Online Stores