ทำธุรกิจ Startup ต้องเตรียมรับมือกับ การเสียภาษี อะไรบ้าง

ทำธุรกิจ Startup ต้องเตรียมรับมือกับ การเสียภาษี อะไรบ้าง

การเสียภาษี เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ทุกคนต้องพบเจอ โดยไม่มีทางหนีพ้น ซึ่งต้องยอมรับเลยว่ามันเป็นเรื่องใกล้ตัวทุกคนที่ทำความเข้าใจไม่ง่ายเลย เพราะการเสียภาษีนั้นมีอยู่มากมายหลายรูปแบบเหลือเกิน แถมแต่ละรูปแบบยังมีรายละเอียดยิบย่อยเต็มไปหมดอีกด้วย

หากเราเป็นคนธรรมดาๆ คนนึงที่ไม่ได้ทำธุรกิจส่วนตัวอะไร ก็ต้องมีการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากันอยู่แล้ว แล้วถ้าเป็นคนที่มีธุรกิจส่วนตัวเป็นของตัวเองล่ะ จะต้องมีการเสียภาษีอะไร? ดังนั้นในครั้งนี้ จึงขอพาเพื่อนๆ ไปทำความเข้าใจกันว่า ถ้าทำธุรกิจขนาดเล็ก มีภาษีอะไรที่ต้องจ่ายบ้าง?

การเสียภาษีต่างๆ สำหรับคนทำธุรกิจ Startup

ทุกคนจะต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า การทำธุรกิจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจในรูปแบบใดก็ตาม จะต้องมีการเสียภาษีให้กับรัฐบาลเสมอ แม้จะเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพเล็กๆ ก็ไม่เว้น ถ้าคุณคิดว่า “แค่มีธุรกิจเล็กๆ ของตัวเอง คงไม่ต้องเสียภาษีอะไรหรอกมั้ง” บอกเลยว่าเป็นความคิดที่ผิดมหันต์ ควรลบมันทิ้งไปให้หมด แล้วมาดูกันว่า การทำธุรกิจสตาร์ทอัพนั้นต้องเสียภาษีอะไรบ้าง

1.ภาษีของกรมสรรพากรที่ “คนทำธุรกิจทุกคนต้องเจอ”

  • ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

คือ ภาษีที่จัดเก็บจากบุคคลทั่วไป ที่ธุรกิจในรูปแบบของการให้บริการ การผลิต ค้าปลีก หรือค้าส่ง ซึ่งจะต้องนำรายได้มาคำนวณเพื่อเสียภาษีตามเกณฑ์การประเมินที่ทางรัฐกำหนดไว้ (ในประมวลรัษฎากร) และจะมีการชำระเป็นรายปี ซึ่งเป็นการเสียภาษีที่คนมีรายได้ทุกคนมีหน้าที่ต้องทำอยู่แล้ว

โดยจะต้องนำไปแสดงรายการตามแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรรมดาที่กรมสรรพากรกำหนดให้ และต้องยื่นภาษีภายในเดือนมกราคม – มีนาคมของทุกปี

เช่น ภาษีของปี 61 ก็ต้องไปยื่นตอนเดือนมกราคมถึงมีนาคมของปี 62 เป็นต้น (ถ้ายื่นทางอินเทอร์เน็ต ทำได้ถึงวันที่ 8 เมษายน)

การเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะคำนวณจากรายได้ หักค่าใช้จ่าย และหักค่าลดหย่อนตามที่กฎหมายกำหนด จนเหลือเป็นเงินได้สุทธิ แล้วนำไปคำนวณภาษีตามอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และไม่ว่าปีนั้นๆ ธุรกิจของคุณจะได้กำไรหรือขาดทุนก็ตาม ยังไงก็ต้องมีการเสียภาษีตัวนี้อยู่ดี แต่ว่าจะมีการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแบบครึ่งปีซึ่งต้องใช้ ภ.ง.ด. 94 ส่วนการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี ต้องใช้ ภ.ง.ด.90

  • ภาษีเงินได้นิติบุคคล

เป็นภาษีที่เรียกเก็บจากนิติบุคคลที่มีหน้าที่ต้องจ่ายภาษีตามกฎหมาย ดังนั้นถ้าหากธุรกิจที่คุณทำอยู่นั้นมีการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ในรูปแบบของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลก็จะต้องมีการจ่ายภาษีนี้ด้วย อย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้

ทางกรมสรรพากรจะเป็นผู้จัดเก็บเพื่อนำส่งรายได้ให้แก่รัฐบาล ซึ่งเก็บในอัตราสูงสุดไม่เกิน 20% ของกำไรสุทธิและการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจะต้องยื่น 2 ครั้งด้วยกัน โดยจะมีการยื่นสองแบบ ได้แก่ ภาษีเงินได้นิติบุคคลแบบครึ่งปี จะต้องใช้ ภ.ง.ด.51 ส่วนภาษีเงินได้นิติบุคคลประจำปี ต้องใช้ ภ.ง.ด.50

  • ภาษีหัก ณ ที่จ่าย

เป็นภาษีที่มีความหมายตรงกับชื่อของมันเลย คือ การหัก ณ ที่จ่าย ดังนั้นถ้ามีการจ่ายเงินเกิดขึ้น คุณต้องหักเงินไว้จำนวนหนึ่งไว้เพื่อนำส่งภาษีให้กับทางรัฐแทนคนที่ได้รับเงินจากคุณ ดังนั้นถ้าธุรกิจของคุณมีการว่าจ้างพนักงาน และต้องจ่ายเงินเดือนประจำล่ะก็ คุณต้องเจอกับภาษีนี้แน่ๆ

ยกตัวอย่างเช่น คุณจ่ายเงินเดือนให้ลูกจ้าง ก่อนจ่ายเงินเดือนคุณต้องคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่ายไว้ก่อน แล้วค่อยหักออกจากเงินเดือน จากนั้นคุณต้องเป็นคนนำส่งกรมสรรพากร เพื่อเป็นการทยอยจ่ายภาษีทีละนิด โดยไม่ต้องจ่ายภาษีเป็นก้อนใหญ่ทีเดียวตอนปลายปี ส่วอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย นั้นขึ้นอยู่กับว่าคุณจ่ายให้ใครและจ่ายค่าอะไร

อธิบายง่ายๆ ก็คือ ถ้าคุณเป็นคนจ่ายเงินว่าจ้างให้คนอื่น คุณจะต้องมีการหักภาษี ณ ที่จ่าย เพื่อเอาไว้ทยอยจ่ายสรรพากร แต่ในทางกลับกัน ถ้าคุณเป็นลูกจ้างที่ได้รับเงิน คุณก็จะได้รับเงินไม่เต็มจำนวน เพราะคนที่จ่ายเงินให้คุณต้องมีการหักภาษี ณ ที่จ่าย เอาไว้ก่อนที่จะจ่ายเงินคุณ

และในส่วนของเงินที่ถูกหักไปจะมีเอกสารรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย เพื่อให้รู้ว่ามีการหักภาษีไปแล้ว ซึ่งผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย สามารถนำเอกสารตัวนี้ไปขอคืนภาษีได้ตอนสิ้นปีนั่นเอง

  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม

เป็นภาษีที่ใกล้ตัวทุกคนมากๆ และหลายคนคงจะได้ยินอยู่บ่อยๆ ในชื่อที่เรียกกันง่ายๆ ว่า VAT ซึ่งภาษีมูลค่าเพิ่มจะเป็นการเพิ่มมูลค่าภาษีเข้าไปในสินค้าหรือบริการจากราคาขายอีก 7% (ถ้าสินค้าราคา 100 บาท เพิ่มภาษีเข้าไป 7% เท่ากับว่าลูกค้าต้องจ่ายค่าสินค้า 107 บาท) โดยการทำธุรกิจนั้นจะต้องมีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อให้สินค้าหรือบริการของคุณถูกจัดอยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม

ผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม คือ ตัวคุณเองที่เป็นเจ้าของธุรกิจ ซึ่งต้องมีรายได้จากการทำธุรกิจต่อปีตั้งแต่ 1.8 ล้านบาทขึ้นไป ไม่ว่าธุรกิจของคุณจะเป็นแบบบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ตาม และคุณจะต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มนี้ให้กับทางกรมสรรพากรภายในเวลาที่กำหนด (จ่ายภายในวันที่ 15 ของทุกเดือน)

นี่จัดเป็นภาษีทางอ้อมอย่างนึง เพราะเจ้าของธุรกิจไม่ต้องเสียภาษีเอง โดยค่าภาษีนั้นได้ถูกบวกเพิ่มเข้าไปในตัวสินค้าแล้ว เมื่อลูกค้ามาซื้อสินค้าก็เท่ากับว่าลูกค้าได้จ่ายภาษีแทนเจ้าของธุรกิจไปด้วย ทำให้เจ้าของธุรกิจไม่ต้องเสียภาษีด้วยตัวเอง เพียงแต่เจ้าของธุรกิจจะต้องเป็นคนนำส่งสรรพากรตามที่บอกไปข้างต้นเท่านั้น

  • อากรสแตมป์

เป็นภาษีประเภทหนึ่งตาม ประมวลรัษฎากร ซึ่งจัดเก็บในรูปของดวงแสตมป์ที่ใช้สำหรับปิดบนเอกสารราชการและหนังสือสัญญาต่างๆ โดยกรมสรรพากรเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดเก็บ

ดังนั้นถ้าธุรกิจของคุณมีการเช่าที่ดินเอาไว้สำหรับเปิดร้าน ก็จะต้องมีการทำสัญญาเช่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งในสัญญาฉบับนั้นจะต้องมีการติดอากรสแตมป์ โดยผู้ให้เช่า(เจ้าของที่ดิน) จะเป็นคนเสียค่าอากรสแตมป์ ส่วนผู้เช่า(ตัวเจ้าของธุรกิจ) มีหน้าที่ต้องขีดค่าทับอากรสแตมป์ด้วย เพื่อแสดงให้เห็นว่าได้มีการเสียค่าอากรสแตมป์แล้ว

นั่นหมายความว่า ตัวคุณเปรียบเสมือนเป็นผู้เสียภาษีอากรทางอ้อมไปแล้ว เพราะมันเกิดจากการที่คุณต้องการเช่าที่เพื่อเปิดร้าน ทำให้มีการทำสัญญาเกิดขึ้น และจบด้วยการติดอาการสแตมป์ ซึ่งถือเป็นการช่วยให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกทางนึง เพื่อนำมาใช้บำรุงประเทศชาติด้านสาธารณูปโภคต่างๆ อีกด้วย

2.ภาษีจากหน่วยงานอื่นๆ ที่ไม่คิดว่า “จะต้องเจอ?”

  • ภาษีสรรพสามิต

ภาษีที่เรียกเก็บจากสินค้าหรือบริการบางประเภท ส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพและศีลธรรมอันดี สินค้าและบริการที่มีลักษณะเป็นการฟุ่มเฟือย หรือเป็นสินค้าที่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ ไพ่ และมีอีกหลายรายการ

ถ้าหากคุณทำธุรกิจร้านอาหารต่างๆ หรือร้านกาแฟ(บางร้าน) ที่มีการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือ ร้านสไตล์ Pub & Restaurant ซึ่งจะมีการขายเครื่องดื่มประเภทนี้ หรือขายบุหรี่ในร้าน คุณก็ต้องเสียภาษีสรรพสามิตด้วย แม้ว่าสินค้าต่างๆ เหล่านี้จะมีการเสียภาษีสรรพสามิตไปแล้วก็ตาม

พูดง่ายๆ คือ มันมีการบวกค่าภาษีเพิ่มเข้าไปในตัวสินค้าเอาไว้ตั้งแต่แรกที่คุณไปซื้อเพื่อนำมาใช้สำหรับธุรกิจของตัวเอง ดังนั้นจึงเท่ากับว่าคุณได้เสียภาษีสรรพสามิตที่แฝงอยู่ในตัวสินค้าไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

  • ภาษีโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง

เป็นภาษีที่เรียกเก็บจากโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ รวมถึงที่ดินที่ใช้ประโยชน์จากโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างนั้นๆ เช่น อาคาร ห้องเช่า หอพัก อพาร์ทเมนท์ เป็นต้น ดังนั้นถ้าหากคุณทำธุรกิจห้องเช่า หอพัก อพาร์ทเมนท์ ซึ่งคุณมีรายได้จากค่าเช่าของคนที่มาเช่าคุณก็จะต้องเสียภาษีโรงเรือนด้วย

โดยอัตราภาษีที่ต้องเสียก็คือ 12.5% ของรายได้ทั้งหมดในปีที่ผ่านมา และคุณต้องไปจ่ายภาษีส่วนนี้ที่สำนักงานเขตหรืออำเภอที่โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างตั้งอยู่ ภายในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี

  • ภาษีป้าย

เป็นภาษีที่เก็บจากป้ายที่แสดงชื่อ ยี่ห้อ หรือเครื่องหมายที่ใช้ในการทำธุรกิจการค้า หรือธุรกิจอื่นๆ เพื่อหารายได้ หรือมีการโฆษณาเพื่อการค้า และนี่เป็นอีกหนึ่งภาษีที่ผู้ทำธุรกิจต้องรู้ไว้ โดยเฉพาะถ้าหากธุรกิจของคุณนั้นมีการทำป้ายร้าน หรือการทำป้ายโฆษณาต่างๆ โดยภาษีป้ายนั้นจะคิดจากขนาดของป้าย เริ่มต้นที่ 200 บาท ซึ่งจะต้องยื่นชำระที่สำนักงานเขต หรืออำเภอที่ตั้งของป้ายภายในเดือนมีนาคมของทุกปี

การคำนวณภาษีป้าย ให้คำนวณโดยนำพื้นที่ของป้ายคูณด้วยอัตราภาษีป้าย เช่น ป้ายที่ต้องเสียภาษีมีพื้นที่ 10,000 ตารางเซนติเมตร เป็นป้ายประเภท 2 (มีอักษรไทยปนกับภาษาต่างประเทศ) วิธีคำนวณคือ นำ 10,000 หาร 500 x 20 = 400 บาท (10,000/500×20 = 400) สรุปว่าต้องเสียค่าภาษีป้าย 400 บาท นั่นเอง


สำหรับใครที่คิดจะทำธุรกิจขนาดสตาร์ทอัพล่ะก็ ไม่ใช่เพียงแค่วางแผนการทำธุรกิจและเรียนรู้เรื่องการบริหารเงินแล้วจบเลยนะ เพราะการรู้ว่าจะต้องเสียภาษีอะไรบ้างนั้นก็สำคัญมากเช่นกัน ดังนั้นหวังว่าบทความนี้คงจะช่วยเรื่องการเสียภาษีสำหรับคนที่คิดจะเริ่มทำธุรกิจสตาร์ทอัพได้ไม่น้อย

บทความโดย: https://rabbitfinance.com

 2989
Visitor
Get started for free today. Free Trial
Create a website for free Online Stores